top of page

ตำนานจานเสียงตราเทวดามีปีกและตราสุนัขนั่งฟังเพลง

แผ่นเสียงตราเทวดามีปีกคือยี่ห้อแรกที่เข้ามาในสยามตั้งแต่รัชกาลที่๕

http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/talkingmachine/angelandhmv.html

 

           กว่าจะมาเป็น GRAMOPHONE ผู้ผลิตแผ่นเสียงเจ้าแรกของโลก EMILE BERLINER เกิด ณ เมือง Hanover ประเทศเยอรมนี เขาเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการอัดเสียงอย่างจริงจัง โดยนำเอาทฤษฎีของ Charles Cros ที่กล่าวไว้ว่า มนุษย์มีสองแนวทางเลือกในการอัดเสียงนั่นคือการอัดลงวัสดุ แบนราบ หรือแบบทรงกระบอก แต่สำหรับ Berliner แล้ว เขามุ่งความสนใจไปที่การอัดเสียงลงบนวัสดุแบบ แบนราบ อย่างน้อยจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรกับกระบอกเสียงของเอดิสัน ทฤษฎีของ EMILE BERLINER คือการอัดเสียงลงบนแผ่น โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ.2430) เขาเริ่มทดลองอย่างจริงจัง ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า PHONOGRAVURE ซึ่งสามารถผลิตแผ่นซ้ำโดยวิธีการดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก แต่ทว่ากระบวนการดังกล่าว กลับมีปัญหาทางด้านสิทธิบัตรเนื่องจาก BELL TAINTER คิดค้นได้ก่อนต่างกันก็เพียงของ TAINTER ผลิตเป็น กระบอกเสียง แต่ BERLINER ก็ไม่ยอมแพ้เขาพยายามค้นคว้ากระทั่งได้วิธีการใหม่เรียกว่า "ENGRAVING PROCESS" ซึ่ง เป็นวิธีการที่ใช้กรดเป็นตัวกัดร่องที่เกิดจากการขูดบนแผ่นสังกะสี ซึ่ง BERLINER เรียกเครื่องมือที่เล่นกับแผ่นดังกล่าวนี้ ว่า "GRAMOPHONE" พอขึ้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) BERLINER ก็ได้เปิดตัววิธีการนี้ต่อสาธารณชน ณ. สถาบัน FRANKLIN INSTITUTE (PHILADELPHIA-BASED SCIENTIFIC SOCIETY) ในวันนั้น BERLINER ได้ อธิบายถึงวิธีการประดิษฐ์ไว้ว่า นำเอาแผ่นสังกะสีตัดขอบเป็นวงกลมออกมาทำความสะอาด และนำแผ่นสังกะสีดังกล่าวไปเคลือบ ขี้ผึ้งแข็งที่ผสมกับน้ำมันสีสูตรพิเศษ จากนั้นนำแผ่นที่เคลือบเรียบร้อยแล้วไปวางบนเครื่องที่มีหัวเข็มและแกนร่อง นำทาง รวมทั้ง ฟันเฟื่องที่ทำให้แผ่นหมุน เมื่อฟันเฟืองหมุนหัวเข็มที่ถูกนำทางด้วยแกนร่องละเอียดก็จะกัดเป็นเส้นวง กลมวิ่งเข้าหาศูนย์กลาง สุดท้าย นำแผ่นที่ถูกหัวเข็มเซาะร่องไปแช่ในสารกรดโครเมียมให้ท่วมทั้งแผ่นทิ้งไว้ 15 นาที และนำแผ่นดังกล่าวมาเช็ดขี้ผึ้งที่ผสมน้ำมันสีออก ก็ จะเห็นรอยกรดกัดลงไปตามที่เข็มเซาะร่อง" หลังจากที่ได้แผ่นเรียบร้อยแล้ว BERLINER ก็ได้สาธิตวิธีการเล่นกับเครื่อง GRAMOPHONE ของเขาที่สถาบันดังกล่าว ที่ประชุมในวันนั้นต่างฮือฮากับผลสำเร็จที่เกิดจากการอัดเสียงลงแผ่นเป็น ครั้งแรกของ โลก ในส่วนของเครื่องเล่นจานเสียง BERLINER ได้ออกแบบและสร้างด้วยขั้นตอนง่ายๆ ประกอบด้วย ก้านมือหมุน และ เม็ดกำมะนา สำหรับถ่วงให้ความเร็วรอบคงที่ (เม็ดกำมะนานี้ฝรั่งเรียกว่า BALL GOVERNOR อ่านว่า "กัวฟเวอรเนอร์" ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการที่ คนไทยเรียกเม็ด "กำมะนา" น่าจะออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า "กัวฟเวอรเนอร์" มากกว่า) โดยแตกต่างจากเครื่องเล่นกระบอกเสียงของ เอดิสัน และ GRAPHOPHONE ของ BELL และ TAINTER ด้วยความเรียบง่ายไม่ยุ่งยากเกี่ยวกับกลไกภายในของกราโมโฟน ทำให้ BERLINER ได้ความคิดที่จะทำเป็นของเด็กเล่น กระทั่งขึ้นปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) เขาได้มีโอกาสเดินทางกลับบ้านที่เยอรมันนี ที่นั่นเขาได้รู้จักกับ KAMMER และ RAINHARDT และได้ร่วมกันผลิตเครื่องเล่นจานเสียงสำหรับเด็กขึ้นมา ณ. เมือง WALTER HAUSEN โดยเครื่องเล่นจานเสียงสังกะสีนี้มักใช้เล่นกับแผ่นเสียงสำหรับเด็กขนาด 5 นิ้ว เท่านั้น ปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) BERLINER เดินทางกลับสู่อเมริกาอีกครั้ง คราวนี้เขามุ่งพัฒนาคุณภาพการผลิตแผ่นให้ดีขึ้น นับจากการใช้เซลลูลอยด์ (CELLULOID) ผสมกับยางแข็ง (RUBBER-BASED COMPOUNDS) ในที่สุดเขาก็ประสบผลสำเร็จจาก การเลือกใช้วัสดุชแลคผสมยางเหนียวกับขี้ครั่ง (SHELLAC COMPOUNDS)

          Gramophone กับการอัดเสียงในกรุงสยาม กรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี ค.ศ. 1900-1910 (พ.ศ. 2443-2453) นักเล่นเครื่องเสียง ในยุคนั้นมีสองทางเลือก ได้แก่ การเล่นด้วยเครื่องเล่นกระบอกเสียง มักเป็นยี่ห้อ เอดิสัน, โคลัมเบีย-กราโฟโฟน และ ปาเต๊ะ ซึ่งปาเต๊ะนี้ถือเป็นเจ้าใหญ่ในการส่งกระบอกเสียงสีขาวนวลที่ทำจากไขขี้ผึ้งมายังสยาม โดยกระบอกเสียงรุ่น แรกนี้ผู้ที่มีเครื่องเล่นกระบอกเสียงสามารถกรอกเสียงได้เองลงไปทางปากลำโพงแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงจะทำ ให้เข็มเซาะร่องเป็นรอยหยัก การอัดเสียงด้วยวิธีนี้ถือว่าง่ายที่สุด แต่ให้คุณภาพเสียงไม่ดีนัก (แบบเดียวกับที่คุณ ต. เง็กชวน เห็นที่ฉะเชิงเทรา) แต่สำหรับในต่างประเทศแล้ว เขามีวิธีการอัดเสียงลงกระบอกที่ดีกว่า โดยการต่อท่อยาง เข้ากับเครื่องเล่นกระบอกเสียงหลายๆ ตัวพร้อมกัน และใช้แบตเตอรี่เปียก (สารเคมีเหลวที่มีขั้วโลหะจุ่มอยู่) เป็นตัว จ่ายพลังงาน เพื่อหมุนแกนของกระบอก ทำให้สามารถอัดเสียงได้หลายๆ กระบอกพร้อมกัน อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า "Pantograph" เป็นการนำเอากระบอกเสียงแม่แบบ (ตันฉบับ) มาเปิดเล่น และนำเอาเครื่องเล่นกระบอกเสียงอีกตัวหนึ่งมาจ่อไว้ใกล้ๆ จากนั้นจึงอัดเสียงเข้าไป วิธีการนี้ง่ายและรวดเร็วแต่เสียงที่ได้จากการอัดสู้กระบอกเสียงแม่แบบไม่ได้ ส่วนนักเล่นเครื่องเสียงชาวสยามอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเริ่มรู้จักกับคำว่า "แผ่นเสียง" ในช่วงปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) ก็เริ่มมีความหวังที่จะได้เห็นการอัดเพลงสยามลงแผ่นเสียง ขณะเดียวกัน Emile Berliner ผู้ที่คิดค้นการอัดเสียงลง แผ่นก็มีความวิตกกังวลว่าการอัดเสียงลงกระบอกเสียง มีแนวโน้มได้รับความนิยมในสยามมากกว่าแผ่นเสียง เนื่องจาก เอดิสันได้ทูลเกล้าถวายเครื่องเล่นกระบอกเสียงพลังน้ำ Class W แด่รัชกาลที่ 5 ในปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) และ ชาวสยามเริ่มรู้จักกระบอกเสียงกันโดยทั่วไปแล้ว ประการสำคัญกระบอกเสียงสามารถอัดเสียงได้เองและฟังได้ทันที ต่างจากแผ่นเสียงที่ต้องผ่านขั้นตอนการทำแผ่นแม่แบบ (Stamper) และส่งไปทำแผ่นเสียงครั่งอีกทีหนึ่ง ดังนั้น Gramophone Co.,Ltd. จึงมอบหมายให้ Tom Addis เป็นหัวหน้าทีมและมี Fred Gaisberg วิศวกรด้านการอัดเสียง พร้อมด้วยลูกมือชื่อ Gorge Dilnutt เดินทางไปอัดเสียงยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งต่อมาทั้ง Fred Gaisberg และ Gorge Dilnutt ได้รับฉายาว่า "The two Recording Experts" การเตรียมตัวเดินทางครั้งแรกของพวกเขานั้นวุ่นวาย และลำบากมาก เนื่องจากอุปกรณ์การอัดเสียงเพิ่งประดิษฐ์ขึ้นได้ไม่นาน จึงมีขนาดใหญ่โตเทอะทะ ทั้งยังมีอันตรายสูงจาก กรดแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับหมุนมอเตอร์ขณะอัดเสียงลงแผ่นแม่แบบ ท่านทราบหรือไม่? Fred Gaisberg คือวิศวกรอัดเสียง เกิด ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เรียนรู้การทำแผ่นเสียงจาก Charles Sumner Tainter ผู้คิดค้น Graphophone และ Thomas H. Macdonald วิศวกรประจำ American Graphophone ขึ้นปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) Fred Gaisberg มีโอกาสร่วมอัดเสียงลงกระบอกกับ Columbia พอขึ้นปี ค.ศ. 1894 (พ.ศ. 2437) เขาได้พบกับ Emile Berliner เขานึกไม่ถึงเมื่อได้ยินเสียงเพลงที่ฟังจากแผ่น ซึ่งให้เสียงดีกว่ากระบอกเสียงที่เขาคุ้นเคย ตั้งแต่นั้นเขาจึง กลายเป็นผู้ช่วยมือหนึ่งของ Berliner ในการอัดเสียง ภายใต้สัญลักษณ์ Angel Trademark ซึ่งออกแบบโดย Theodore B. Birubaum ชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) การเดินทางของ Fred Gaisberg เพื่อมาอัดเสียงในสยาม เริ่มต้นในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) รอนแรมมา ในเรือชื่อ "Coromandel" ซึ่งภายในเรือของเขานั้นเต็มไปด้วยแผ่นขี้ผึ้งเปล่าที่เตรียมไว้สำหรับการอัดเสียงจำนวนหลายร้อยแผ่น กระทั่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) Fred Gaisberg ได้เดินทางมาถึงกรุงสยามโดยนั่งเรือเล็กชื่อ "โคราช" มาขึ้นที่บางกอก ครั้นเมื่อถึงกรุงสยาม Fred Gaisberg ก็ได้รีบเข้าเฝ้าเพื่อขอพระบรมราชานุญาตนำนักร้องเสียงดีประจำราชสำนัก อัดเสียงลงแผ่น กระทั่งอัดเสียงเสร็จสิ้นภายใน 4 วัน พร้อมจำนวนแผ่นขี้ผึ้งแม่แบบถึงร้อยกว่าหน้า ขึ้นวันที่ 5 มิถุนายน เขาจึงได้ เดินทางต่อ และกลับถึงท่าเรือวิคตอเรีย ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) ทันทีที่ขึ้นฝั่ง Fred Gaisberg ได้รีบนำแผ่นแม่แบบเพลงสยามทั้งหมดไปยังเมือง Hanover เพื่อผลิตเป็นแผ่นเสียงครั่งชนิดหน้าเดียวตรา Angel Trademark และทำการส่งกลับมาขายยังสยามประมาณต้นปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) ขึ้นปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) น้องชายของ Fred Gaisberg ชื่อ William "Will" Conrad Gaisberg ได้เดินทางเข้ามายังกรุงสยาม เป็นครั้งที่ 2 เพื่ออัดเสียงรอบใหม่ การมาครั้งนี้ของเขายังคงได้ Gorge Dilnutt ผู้ช่วยมือหนึ่งของพี่ชายมาร่วมงานด้วยอีกครั้ง แล ะการมาอัดเพลงสยามครั้งที่ 2 นี้ได้มีการกำหนดตัว "e" เป็นรหัสต่อท้ายหมายเลขประจำแผ่น ซึ่งต่างจากแผ่นเสียงสยามที่อัดโดยพี่ชาย จะมีตัว "E" อยู่หน้าหมายเลขประจำแผ่น ข้ามมาปี ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) The Gramophone Co.,Ltd. ได้เปิดโรงงานแห่งใหม่ ขึ้นที่ประเทศอินเดีย ณ ตำบล Sealdah ใกล้กับเมือง Calcutta จากการเปิดโรงงานใหม่ในอินเดียนี้ทำให้มีการย้ายแผ่นแม่แบบ (Stamper) เพลงสยามที่อยู่ใน Hanover มาผลิตที่นี่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน The Gramophone Co.,Ltd. ก็ได้เปิดตัวแผ่นเสียงเพลงสยามชนิดอัดสอง หน้าแทนหน้าเดียวเป็นครั้งแรก กระทั่งถึงประมาณปี ค.ศ. 1915 (พ.ศ. 2458) ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์จากรูป "เทพธิดาองค์เล็กนั่ง บนแผ่นเสียง" มาเป็นภาพ "หมา Nipper นั่งฟังเครื่องเล่นจานเสียงรุ่นแรก" ของกรามโมโฟน ท่านทราบหรือไม่ว่า? แผ่นเสียงเพลงสยามที่บันทึกโดย Fred Gaisberg นั้นต้องมี E (ตัวใหญ่) อยู่หน้ารหัสตัวเลข แต่ถ้าเป็นแผ่นเสียงเพลงสยามที่บันทึกโดย William Gaisberg ซึ่งเป็นน้องชาย ตัว E จะกลายเป็น e (ตัวเล็ก) และอยู่ข้างหลังรหัสตัวเลข สัญลักษณ์ตราหมานั่งฟังเครื่องเล่นจานเสียงปากแตรกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในสยาม สัญลักษณ์ตราหมาฟังเครื่องเล่นจานเสียงไขลานปากแตรนี้ มีตราที่ติดบนแผ่นเสียงหลายสี แต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันในแต่ละยุค พื้นขาวหมาลายเส้นสีน้ำตาล เป็นแผ่นแม่แบบที่ถูกอัดเพื่อทดสอบคุณภาพเสียง ในวงการอัดเสียงสมัยก่อนเรียกแผ่นประเภทนี้ว่า "แผ่นเสียงดิบ" และมักจะพิมพ์คำว่า "Not for sale" นั่นคือไม่ได้อัดเสียงเพื่อขาย พื้นดำหมาสีขาว เป็นแผ่นเสียงสมัยแรกที่เริ่มใช้สัญลักษณ์ His Master's Voice เข้ามาทำตลาดในกรุงสยามระหว่างช่วงปลายรัชกาลที่ 5 โดยทั่วไปแผ่นเสียงยุคพื้นดำหมาสีขาวนี้ ส่วนมากจะอัดเพลงไทยเดิมประเภทละครร้อง เช่น พระลอ ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น พื้นเหลืองหมาสีน้ำตาลอ่อน เป็นแผ่นเสียงครั่งที่เริ่มบันทึกกันในสมัยรัชกาลที่ 6 คุณภาพเสียงดีขึ้นกว่ารุ่นพื้นดำ แต่ยังคงความหนักและหนาเหมือนเดิมเพราะทำจากครั่ง เพลงที่นิยมอัดกันในช่วงนี้ ได้แก่ ตับเรื่องพระลอ และเรื่องอิเหนา เป็นต้น พื้นเขียวหมาสีขาว เป็นแผ่นเสียงที่ผลิตขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 7 หลังปี พ.ศ. 2475 โดยมี บริษัท นำไทย จำกัด เป็นผู้นำเข้า เพลงที่ได้รับการอัดเสียงเริ่มมีความเป็นสากลมากขึ้น อาทิเช่น เพลงละครเรื่องดัชนีนาง และรวมถึงเพลงละครเวทีต่างๆ และวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการอัดเสียงลงบนแผ่นพื้นเขียวหมาสี ขาวนี้ ก็คือวงดนตรีของกรมโฆษณาการ พื้นแดงหมาสีขาว เป็นแผ่นเสียงยุคสุดท้ายของ His Master's Voice ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ห้างกมลสุโกศล เป็นผู้จัดจำหน่าย วงดนตรีที่ขึ้นชื่อและบันทึกเสียงลงแผ่นพื้นแดงหมาสีขาวนี้ได้แก่ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงเพลงลูกทุ่งต่างๆ ก็ได้ถูกบันทึกไว้ด้วยเช่นกัน

bottom of page