top of page

วงดนตรี คณะ "ฟ้าบางกอก" แก้ว สาริกา บรรเลงเอง ครับ ...

 

สวัสดีครับ ทุกท่านนั่นแหล่ะ ถ้าผมจะเล่าและพูดถึง
วง ดนตรีลูกทุ่ง วงหนึ่ง ที่อยู่ในแวดวงยุทธจักรมาแสนยาวนาน คณะ "ฟ้าบางกอก" ของ "ครูฉลอง วุฒิวัย" ครูเพลง และครุูนักดนตรี ที่ให้กำเนิด ตลกดัง อย่าง คณะ สี่สี, สี่ลิง, และอีก ๆ ๆ .. ผมจำเป็นต้องตั้งสติก่อนสตาร์ทครับ วงดนตรี คณะ "ฟ้าบางกอก" ที่ใครหลายๆ คนคิดว่าคำว่า "ฟ้าบางกอก" ก็คือ วงดนตรี ของคนกรุงเทพฯ กระมัง และอีกบางคนเคยเขียนไว้ว่า เมื่อ ครู ฉลอง วุฒิวัย มาอยู่ วงดนตรี วงใหญ่ อย่าง วงดนตรี จุฬารัตน์ หรือ จุฬาทิพย์ ก็เลิก วง ฟ้าบางกอก ไม่ใช่ครับ ก่อนที่จะบรรเลง เพลง ฟ้าบางกอก ต้องขอกราบเรียน ก่อนนะครับว่า ยังมีผู้รู้ อีกเยอะแยะ มากมาย อาจจะรู้ดี กว่าผมเสียอีก แต่ท่านเล่านั้นอาจจะเห็น วงฟ้าบางกอก ไม่ดัง หรือนักร้องดังนั้นมีน้อยมาก การตลาดก็ไม่เจิดจ้า จึงมองข้ามผ่านเลยไป ผมจึงใคร่ขอเชิญชวน พี่น้องเหล่าศิลปินที่คุ้นเคย เคยอยู่สัมผัส กับ ครูฉลอง วุฒิวัย ในวงฟ้าบางกอก มาก่อน หากได้อ่านเจอกระทู้นี้ มาช่วยกันนะครับ ท่านรู้อะไร ตรงไหน สอดแทรกได้เลย กระทู้นี้ผมอยากให้เป็นตำนานขานกล่าว โดยไม่รู้จบ อย่างเฉกเช่น วงดนตรีลูกทุ่งทั่วๆไป
...ผมไม่ใช่ รุ่นแรก ของฟ้าบางกอก แต่ผมสัมผัส กับนักร้อง นักดนตรี โฆษก ของ ฟ้าบางกอก เกือบจะทุกคน ก่อนที่จะได้มาเป็นนักร้องอยู่
วงดนตรี คณะ "ฟ้าบางกอก" เสียอีก ...

ช่วง เวลาอันรุ่งโรจน์ ของวงดนตรี ลูกทุ่งยุคต้นๆ จะมีสถานี วิทยุกระจายเสียง อยู่ ด้วยกัน สามสถานี ที่ประชาชน ให้การยอมรับ กับการมีวงดนตรีลูกทุ่งเข้ามาวกวนเวียน อยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านชาวช่อง เขาก็ชอบฟังกัน สถานีวิทยุยานเกราะ ขวัญใจประชาชน ของท่าน "จำรัส วิภาตะวัตร," สถานีวิทยุ สทร. ท่าช้างหวังหลวง, สถานีวิทยุ ปชส.7 อยู่ใต้ถุน สะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี,
ที่สถานี ปชส.7 (กรมประชาสัมพันธ์) กลางคืนของทุกวันศุกร์ และ เสาร์ จะมีการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งสลับสับเปลี่ยน กันเป็นประจำ ใกล้ๆ สถานีวิทยุ ปชส.7 ก็จะมีร้านค้าไก่ย่าง อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เรียงแถวเป็นแนวตลอดริมฝั่งน้ำ อย่างเช่น ร้าน "จีรพันธ์" ไก่ย่าง ร้านอาหาร "สวนกุหลาบ" และ อีก ฯ ลานสนามหญ้าข้างๆสถานี ก็มีข้าวเหนียว ส้มตำไก่ย่าง เมี่ยงคำ ขนมจีน-น้ำยา ใช้เสื่อ ปูลาดกับพื้นสนามหญ้านุ่มๆ มีหนุ่ม-สาวมานั่งคุย กันเป็นคู่ๆ บ้างก็อุ้มลูกจูงหลาน มาเดินเล่น วิ่งเล่น ที่สนาม ดูแล้ว ก็เป็นธรรมชาติ น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก มีน้ำตกจำลองไหลสาด น้ำซัดกระจายไหลกระเซ็น ซัดซ่า ชุ่มฉ่ำ มีฝูงปลานานาพันธ์ หลายหลากมากชนิดว่ายเวียนอยู่ในแอ่งน้ำที่เย็นใส
เวียน ว่ายอยู่ไปมา มองไปรอบๆ ก็แลเห็น วัดประยูรวงศาวาส เชิงสะพานพุทธ ดูสงบเงียบ ไม่พลุกพล่าน เหมือนเดี๋ยวนี้ ใต้ถุนสะพานพุทธฯ มีรถเมล์ สาย 82 วิ่งระหว่าง สะพานพุทธ ถึง ท่าน้ำ อ.พระประแดง
   สถานีวิทยุ สทร. (เสียงจากทหารเรือ) ท่าช้างวังหลวง จะเป็นช่วงกลางวัน ของทุกๆวันอาทิตย์ วงดนตรีลูกทุ่ง หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป มีการจัดประกวดการแสดงของคณะลิเก มีรถเมล์ สาย 25 จากท่าช้าง ถึง ปากน้ำสมุทรปราการ รถเมล์สมัยนั้นก็ยังเป็นของ บริษัทฯเอกชนอยู่ที่ ผมกล่าวมาอย่างนี้ ก็เพื่อที่ว่า จะได้รื้อฟื้นความจำ และถามท่านว่ายังพอจำกันได้หรือไม่ ว่าในขณะนั้น มีคณะดนตรีลูกทุ่งมากมาย หลายสิบคณะ
เช่น วงดนตรีคณะ "พิพัฒน์บริบูรณ์" ที่มีนักร้องนำ อย่าง น้ำผึ้ง บริบูรณ์, ดาว มรกต, หยก นพเก้า, แก้ว นพเก้า, ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เป็นต้น
วงดนตรีคณะ "ชุมนุมศิลปิน" มีนักร้องนำ เพลิน พรหมแดน, นิตยา เปิดปัญญา, ชวนชัย ฉิมพะวงศ์, สุริยา แสวงธรรม, สมศักดิ์ ศรีบางช้าง, อัญชุลี ฉัตรวิไล, และอีก ฯ
       วงดนตรี คณะ "ช้างแดง" ของท่าน กุญชร สุทธิพันธ์, วงดนตรี คณะ เจือ รังแรงจิตร, วงดนตรี คณะ บางกอกช่ะ ช่า ช่า, วงดนตรี คณะ เนวี่บลู, วงดนตรี คณะ "ลูกตะวันออก" ของ ครู "ชัยชนะ บุญนะโชติ" วงดนตรี คณะ"ประกายดาว" ของครู "ก้าน แก้วสุพรรณ" วงดนตรี สมานมิตร เกิดกำแพง ฉายานักร้องลูกคอลวดลาย ไฝเจ้าเสน่ห์ ที่มี การะเวก เสียงทอง ปทุมทิพย์ บัวตะมะ แก้ว เบญจกาย (นักร้องสองเสียงคนแรก)
วง ดนตรี รวมดาวกระจาย ของ ครูสำเนียง ม่วงทอง ที่มี ไพรวัลย์ ลูกเพชร ไวพจน์ เพชรสุพรรณ อาเนี้ยว ท ท ท (ทองหล่อ คงสุข) เป็น ตัวนำ มีอีกเยอะครับหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปแสดง ตามแต่โอกาส แต่ขอแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน/ส่วนโฆษก ประจำสถานีวิทยุ สทร.ท่าช้าง ท่าน"ทองแป๊ะ สินจารุ" โฆษก ประจำสถานีวิทยุ ปชส.7 ท่าน "ไฉน กลิ่นขาว"

คุณเสรีไทย ครับ  มะเฟืองหวาน ลูกสุพรรณ ผมไม่รู้จัก ครั้งนี้ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อนี้
                 พี่ เนาว์ อนุรักษ์ อยู่วงการก่อนผมไม่นานนัก สมัยก่อนเจอกันบ่อย แถว สถานีวิทยุ ส ท ร - ป ช ส 7 ไม่เคยอยู่ วงฟ้าบางกอก 
                 พรหม ลูกบ้านแพน เคยอยู่ วงสุรพล สมบัติเจริญ ไปอยู่ได้ วันหรือสองวัน สุรพลเสียชีวิต ออกมา มีวงดนตรี เป็นของตัวเอง มีนายทุ่นตั้งวงให้
                 ผมไปเป็นมือกลองให้อยู่พัก ระพิน ภูไท ตอนยังไม่ดัง ก็มาอยู่ด้วย
     วงดนตรี พรหม ลูกบ้านแพน ไปไม่รอด ยุบวง ก็มารับจ้างร้องวงทั่วไป มาร้องให้ ฟ้าบางกอก เป็นบางครั้งบางคราว ไม่ถือว่าอยู่ประจำ  ต่อมาไม่นาน ระพิน ภูไท
ดังเปรี้ยง พรหม ลูกบ้านแพน ก็ไปอยู่ กับ วงระพิน ภูไท ต่อมาอีก พรหม ลูกบ้าน ได้รู้จักกับ คุณ ส. รัตนะ นักจัดรายการวิทยุ และละครวิทยุชื่อดัง ก็ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ส.รัตนะ เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ เป็น ศักดิ์ชัย พรรัตนะ จัดรายการวิทยุจนโด่งดัง เป็นมือขวาให้ ส.รัตนะ ด้วยความที่ ชอบมากเรื่องการดื่ม สุดท้าย ก็ต้องเสียชีวิต ด้วยวัยที่ยังไม่สมควร
     การที่จะบันทึกแผ่นเสียงนั้น ไม่ใช่หมายถึงว่าอยู่วงนั้นวงนี้ประจำครับ แล้วแต่ว่าใครจะจ้างไปอัดเสียง ผมเองก็เคยไปร้องรับจ้างอัดเสียงให้คนอื่นเลย
     เมื่อมีคนมาจ้าง .....

วงดนตรี คณะ "ฟ้าบางกอก" ของครู "ฉลอง วุฒิวัย" ก็เป็นหนึ่ง ใช่สองรองใครเสียที่ไหน ขณะที่ วงคณะอื่นๆ ล้มวง วงหาย
แต่ คณะ "ฟ้าบางกอก" ยังอยู่ยงมาได้ มีงานไม่มีงาน แกก็อยู่ได้
       ให้กำเนิด นักร้อง-โฆษก-ตลก ก็เยอะมากมายนับไม่ถ้วน ผมว่า มากกว่าทุกวงเสียอีก ทุกยุคทุกสมัย แต่ที่ไม่เหมือนใครก็คือ ใครจะมาร้องก็มา ใครจะไปก็ไป ไม่ว่ากัน บางทีไปแสดงให้เจ้าภาพ ไม่เอาเงินก็มีอยู่บ่อยๆ ที่แสดงประจำทุกปีไม่เคยขาด ในสมัยก่อน มีอยู่ ที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน กวาดแช้มป์ ชนะเลิศทุกปี ซิเอ้า ตอนที่ผมไปอยู่บ้านครู ฉลอง ถ้วยรางวัลเต็มไปหมด อีกวัด ที่แสดงประจำ ก็ที่ วัด โกรกกราก (หลวงพ่อปู่-หลวงปู่กรับ) มหาชัย แสดงกันทุกปีครับ ตอนนั้นไป วัดโกรกกราก ต้องนั่งรถไปทางอ้อมน้อย มีแต่ป่า สองข้างทาง ไปถึงมหาชัย ลงเรือที่ท่าน้ำมหาชัย เป็นเรือตังเก ข้ามแม่น้ำต่อไปจนถึงวัด ก่อนนี้ไปกันเป็นวัน เดี๋ยวนี้จากกรุงเทพฯ ชั่วโมงเดียว
... วงดนตรี ฟ้าบางกอก มีสำนักงานอยู่ที่ ตึกหัวมุมด้านเหนือของ วัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม ตรงข้าม ไทยทีวี 4. (ตอนนี้เป็นแบ๊งค์ชาติ)
นักร้อง รุ่นแรก ของ"ฟ้าบางกอก" มิตร ไมตรี, ชะโอด ยงพฤกษา (เกียรติ ไกรสรณ์), วิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณ, วีระ กลิ่นเกตุแก้ว, ระวี วงศ์สำราญ,
วาสนา ทิพยโอสถ, ไว วรนารถ, รุ่งทิพย์ เมืองสุวรรณ, พรชัย วัชรีวงษ์, สีฟ้า โพธิสัตย์ (อดีตภรรยา ศรี สุริยา), เวก วันชัย (ต่อมา ไปเป็นปลัดอำเภออยู่ แถวนครนายก ), จรกา ผิวผ่อง (ร้องเพลงบันทึกเสียง ลูกเลี้ยง ต้นฉบับเดิม), อีกหลายคนครับ ยังนึกไม่ออก ใครอยู่ด้วย ช่วยบอกที

ก่อนที่จะกล่าวขานสานต่อ กระผมอยากจะเรียนบอกกับท่านผู้สนใจใน วงดนตรี "ฟ้าบางกอก" สักนิด ฟ้าบางกอก
ถึง จะไม่โด่งดัง แต่ ฟ้าบางกอก จุดประกาย ให้กำเนิด นักร้อง นักดนตรี โฆษก - ตลก นักแสดง ทั่วอาณาจักรแห่งวงการลูกทุ่ง มากมาย แล้ว ก็มาดังในภายหลังนี้ มากโขอยู่ทีเดียว เป็นต้นวงกำเนิด ของนักร้อง นักดนตรี และโฆษก-ดาวตลก มากมายก่ายกอง ไม่มีใครในยุทธจักรวงดนตรีลูกทุ่ง ที่จะไม่รู้จัก วงดนตรี "ฟ้าบางกอก" ของ ครู ฉลอง วุฒิวัย ผมเองเป็นญาติดอง ของครู ฉลอง คือป้าแท้ ๆของ ครู ฉลอง มาเป็น ป้าสะไภ้ ของผม บ้านก็อยู่ติดกันใกล้กัน แค่ขอบรั้วกั้น วันไหนที่ครูฉลอง ขึ้นมาบ้าน หรือนำวงมาแสดงแถวๆบ้าน นักร้องในวงก็จะพากันขึ้นมาเที่ยวอยู่สม่ำเสมอ ผมก็เลยสนิทกับนักร้องหลายๆคน ไอ้เราเป็นเด็กบ้านนอกเห็นคนกรุงเทพฯมา ก็เดินตามดู บ้านนอกผู้หญิงเขามีแต่จะนุ่งผ้าถุง คนแก่ ก็นุ่งจูงกระเบน แต่ผู้หญิงที่มาจากกรุงเทพฯ เขานุ่งกุงเกง (กางเกงน่ะครับ บ้านนอกเขาถนัดเรียกกุงเกง) ผมกับ "จรกา ผิวผ่อง" ก็เลยเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะอายุไล่เลี่ยกัน ผมจึงบอกกับท่านที่ติดตามอ่านว่าผมสนิทคุ้นเคยกับนักร้องนักดนตรีคณะ ฟ้าบางกอก ก่อนที่ผมจะมาเป็นนักร้อง
       ครู ฉลอง วุฒิวัย  เรียนจบสถานการศึกษาที่เดียวกันกับผม เพียงแต่คนละรุ่นกัน
       คือ โรงเรียน มัธยมสุวรรณวิทยา (เรียนมัธยมต้น) และ โรงเรียน "วิเศษชัยชาญ ตันติวิทยาภูมิ" โรงเรียนประจำอำเภอ วิเศษชัยชาญ ที่โรงเรียนแห่งนี้
 มีสอนการดนตรี  ซึ่งสมัยนั้นก็รับงานประเภทงานแห่ แตรวง งานบุญ งานบวชนาค เป็นส่วนใหญ่

หลังจากเลิกเวลาเรียนของทุกวัน เขาก็จะนัดกันกับกลุ่มเพื่อนที่หัดดนตรี ตอนนั้นนิยมเรียก แตรวง หมุนเวียนเปลี่ยนบ้านกันไป ไม่ให้ซ้ำกัน ชาวบ้านเขาก็ชอบนะ เราเป็นเด็ก ก็ไปยืนดู บางที ก็ที่รอมกองฟาง เอาฟางปู นั่งนิ่มสบายก้นเสียอีก บางทีก็ในยุ้งฉางข้าวเปลือก บางทีก็กลางลานที่ เป็นที่นวดข้าว-ฝัดข้าว
โอ้..สาระ พัดที่แหล่ะ ครับ ไม่เห็นจะมีใครบ่น ใครด่า หรือใครจะมาว่าสักคำ หากเป็นเดี๋ยวนี้ล่ะก็ แม่คุณเอ๋ย..ถูกก่นด่าถึงโคตร ถึงตระกูลแหล่ะ
             ครู ฉลอง แกบ้าระห่ำมาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนแล้ว เขาเป่าแตรกันธรรมดา ๆ แกไม่.. เป่าทรัมเปทพร้อมกันทีเดียวสองอัน เพื่อนๆก็ว่ามึงจะบ้าเหรอะ
แกก็ตอบว่า เออ..น่า บางทีก็หยิบขลุ่ยสองอันขึ้นมาเป่า ปากอัน จมูกอัน ไม่เคยเห็นมีใครมาสอนแกเรื่องนี้ แกหัด แกทำ ของแกเอง บ้างก็เป่าทรัมเปทหกหัวตีลังกาหน้าตาเฉย ไปเลี้ยงควายกลางทุ่ง ต้นตาลหลังบ้านก็มีออกเยอะไป แกขี่ควาย นั่งเป่าขลุ่ยบนหลังควาย ตีลังกาบนหลังควาย ควายตกใจ
วิ่งตะเหลิด ตกหลังควาย จนนิ้วนางมือข้างขวา หักเก ถ้าใครรู้จัก และสังเกตุจะเห็นได้ชัด นิ้วนางด้านขวาหงิกงอไปข้างหนึ่ง แกก็ไม่เข็ด นิ้วหายก็เอาอีกเป็นอย่างนี้ประจำ จนเพื่อน ๆ และครูผู้ฝึกสอน ยอมยกให้ แล้วก็เรียกกันจนชินปากว่า "ไอ้หลองบ้า"

จะเล่าเรื่องขำๆ นอกประเด็นหน่อยนะครับเพิ่งจะนึกได้ ที่โรงเรียนเก่าของผม กับของ ครูฉลอง นั่นแหละ ชื่อ"โรงเรียนมัธยมสุวรรณวิทยา"
เป็น โรงเรียน ที่เรียนระดับชั้น ป.5 - ม.ศ.3 (สมัยก่อนเขาเรียก ม.1 - ม.6 ช่วงรัฐบาลเปลี่ยนหลักสูตรพอดี) ขณะนั้นผมกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.1
ถ้าจำไม่ผิด ตรงกับ พ.ศ. 2505 ตอนต้นปี
        ทางโรงเรียนเขาจัดงานชุมนุมศิษย์เก่ามีงานกินเลี้ยง จึงจัดให้มีการแสดงของวงดนตรี โดยนำวงดนตรีมาจากโรงเรียนปัทมโรจน์ โรงเรียนดังในอ่างทอง
ครู ฉลอง เป็นศิษย์เก่า ก็มาร่วมงานกับเขาด้วย ทุกคนรู้จัก ครูฉลองดีอยู่แล้ว
เพราะ เป็นนักร้อง และนักดนตรีดังจากกรุงเทพฯ เขาได้เชิญ ให้ครูฉลอง ขึ้นร้องเพลง และโชว์การแสดงดนตรี ครูฉลอง ก็โชว์เต็มที่แบบเหนือชั้น
ในงานชาวบ้านก็ แต่งตัวกันแบบบ้านนอกธรรมดา ผู้หญิงเขาก็นุ่งผ้าถุง ไม่มีหรอกกุงเกงน่ะสมัยนั้นผ้าถุงอย่างเดียว ผู้ชายก็กุงเกงเท่าที่เก๋ที่สุดแหล่ะ
ทีนี้ครูฉลอง แกคนง่ายๆ อยู่แล้ว นุ่งกุงเกงขาก๊วยใส่เสื้อธรรมดาๆ ผ้ากะโถงขาดพุง (ผ้าข้าวม้าครับ แถวบ้านผมเขาเรียกผ้ากะโถง) ขึ้นร้องเพลง
หลายเพลง แล้วโชว์การเป่าทรัมเปท สองตัว สุดท้ายก็เป่าทรัมเปท โชว์แอ่นตัวกลับหลัง เอาปากคาบแบงค์ธนบัตร ผ้ากะโถงที่คาดเอวหลุด เอามือที่กำทรัมเปท วางทรัมเปท และตะคลุบคว้าผ้าไว้ได้ทันเสียก่อน ก่อนที่จะโป๊ คนดูก็ขำ ฮา..กันกลิ้ง แล้วก็ปรบมือให้ ครูฉลอง ปรับเปลี่ยนท่าทีแล้วก็แสดงต่อจนจบ

ครูฉลอง มิได้หยุด แค่เพียง "ฟ้าบางกอก" แกไปของแกทั่ว ไปวง"พิพัฒน์บริบูรณ์" ใช้ชื่อ "ชาย ชวนเชยชม" ไปวงจุฬารัตน์ ใช้ชื่อ "เด่น ดวงดี" เล่นแสดงโชว์ดนตรีกายกรรม หกคะเมน ตีลังกา จนได้ฉายา "คิงส์โพธิ์ดำ" เป็นผูู้ริเริ่ม การแสดงดนตรีกายกรรมเป็นคนแรก และวงแรกของประเทศไทย  โชว์การเป่าขลุ่ยสองอัน ทางปากอัน จมูกอัน จนได้ฉายา "ขลุ่ยทิพย์"    จัดรายการวิทยุ คู่กับ นายห้าง"ประจวบ จำปาทอง" ใช้ชื่อ "เจน จำปาทอง" จัดรายการเดี่ยวคนเดียว ใช้ชื่อ " ทิดกั่ว " ( เวลาจัดรายการ ชื่อ ทิดกั่ว จะพูดออกสำเนียงเยื้อง ทางสุพรรณฯ ) มีเพลง ชื่อ " ทิดกั่วหลงกรุง " เป็นเพลง นำไตเติ้ลก่อนเข้ารายการ
     ได้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงไว้เยอะมากมายหลายสิบเพลง ลงทุนเอง แผ่นเสียงตรา เริงนภา ตราฟ้าบางกอก ตรานางละคร ตราขลุ่ยทิพย์ และอีกเยอะ ชื่อนักร้อง
(ของตัวเอง) ก็เปลี่ยนเสียตัวเองยังจำไม่ได้ว่ามีชื่ออะไรบ้าง แต่งเพลงส่งให้นักร้องโด่งดังก็มีไม่ใช่น้อยๆ มีอีกครับ ผมยังนึกไม่ออก
      อีกอย่างหนึ่ง ใครก็ได้ ทำวงเฉพาะกิจ คือไม่มีวงของตัวเอง แต่รับงานหาเงินเขาไว้ ก็มาหาครูฉลอง จัดวงให้ แต่ใช้ชื่อ หรือสแตนด์ ตั้งหน้าเวที เป็นของคนคนนั้นๆ อย่าง พี่ "ไฉน กลิ่นขาว"โฆษกดังสมัยนั้น เจ้าประจำ " รจนา ณ.ดำเนิน" " รุ่งทิพย์ แหลมสิงห์" " จำรูญ หนวดจิ๋ม" ดาราตลก "ทัศนารมย์" ของ จ๋อง หน้าจ๋อย และอีกหลายวง หลายผู้หลายคน หลายคณะ แม้ของตัวเอง ก็มี วง "เริงนภา" อีกวง เอากับเขาซิ ฟังๆดูแล้วน่าจะรวยนะ แต่ หนี้เต็มกระบุงโกยไม่ไว้ พี่"เฉลียว" งี๊ถึงกับส่ายหัว
( พี่สาวคนโตของครูเขา ) ต้องถึงกับขายนาช่วยน้อง...
      วงดนตรี " ฟ้าบางกอก" ไม่เคยมีการเดินสาย เหนือ ใต้ อีสาณ เหมือนกับวงดนตรีลูกทุ่งวงอื่นๆ มีครั้งเดียว ที่ ชาย เมืองสิงห์ นำไป ก็เป็น เรื่องของพี่ชาย เขาทำ
ตอนออกจาก จุฬารัตน์ ใหม่ ๆ
      ปล. การที่ผมจะเขียนเรื่อง ของ "ฟ้าบางกอก" เรียบเรียงตามลำดับขั้นตอนเหมือน กับวงดนตรีวงอื่นนั้น ก็คงไม่ได้ เพราะระบบการดำเนินงานของแต่ละวง ไม่เหมือนกันแตกต่างกัน คงจะต้องเขียนแบบกระโดดไป กระโจนมา บางท่านอาจจะสับสน หรืองง ก็ต้องขออภัยไว้ก่อนนะครับ สุดท้ายก็จะเข้าใจไปเอง หรือไม่ก็ ทั้งงง ทั้งมึน มากกว่าเดิม  55555 ...

อย่างเรื่องเนี้ยะ   เดือน กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2505 ครูฉลอง อุปสมบท ที่บ้านเกิด ที่ บ้านขวาง ตำบล ศาลเจ้าโรงทอง อำเภอ วิเศษไชยชาญ
จังหวัด อ่างทอง บวชที่วัดขุมทอง ใกล้กับบ้านครูฉลอง กลางวันบ่าย มีทำขวัญนาค หมอที่ทำขวัญ ชื่อ คุณหมอ " พยุง ฉ่ำเฉลียว " ( ปัจจุบัน หมอพยุง อายุ 77 ปี ยังรับทำขวัญนาคอยู่ เจอะเจอกันบ่อยกับผม อยู่ใกล้กัน ) และ มี " ชาย เมืองสิงห์ " เป็นหมอผู้ช่วย ตอนนั้น พี่ชาย เพิ่งจะเริ่มดัง เพลง "มอดกัดไม้"
กลางคืนมีดนตรี คณะ"ฟ้าบางกอก" เป็นการฉลองสมโภชน์ เหตุการสำคัญ ก็คือ ในคืนนั้น มีนักเลงถิ่นอื่น นัดตีกันในงาน เป็นเรื่องเคยชิน ประจำของท้องถิ่น เวลามีงานอะไรที่ไหน ไม่รู้เป็นอะไร จะต้องมี นัดตีกันเป็นประจำ ดีนะว่า ตีกันด้วยไม้ตะพด ไม่มีปืนผาหน้าไม้ ยิงฟันไม่มี ไม้ตะพดล้วน ๆ เหมือนลองความเหนียว เวลาเขานัดจะตีกัน เขาก็หาหว่าน หนังแห้ง มาเคี้ยวๆ แล้วกิน ๆ ๆเข้าไป ชั่วถ่ายปัสสวะ ถ้าถ่ายปัสสวะต้องกินใหม่ ผมก็เคย เอ้า ๆ...
ผมก็ไปยืนดู เห็น ครู ฉลอง กับ พี่ ชัย อนุชิต ออกมาพูด ขอร้อง ว่า วันนี้ เป็นวันสำคัญที่สุดในชีวิตของผม พรุ่งนี้จะได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ผมขอนะครับ อย่าให้มีเหตุการณ์ อะไร ที่ไม่ควร ทำให้เกิด เป็นรอยมลทิน ต่อพระศาสนาเลย ครู ฉลอง ที่มือถือพานดอกไม้ ธูปเทียน มาด้วย วางพานลงที่พื้นเวที แล้วก้มลงกราบเพื่อเป็นการขอขมา กราบลงกับพื้นเวที สามครั้ง ผู้คนนั่งฟังกันเงียบกริบ เหตุการณ์ที่ว่าจะเกิดเหตุร้ายๆ ก็ไม่มี คืนนั้น นักร้อง นักดนตรี เล่นกันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มือกลอง โชว์การสโล่ว์กลองมันมาก คนบ้านนอกอย่างเราๆ ไม่เคยเห็น ไม่เคยมี ควงไม้ตีกลอง รอดแข้ง รอดขา ใต้รักแร้ ควงไม้ สองมือ บนศรีษะ ต้องยอมรับว่าสุดยอด พวกเราไม่เคยเห็นจริงๆ เสียง ชัย อนุชิต ประกาศ นั่นคือ การแสดงความสามารถการสโล่ว์กลอง ของ แสง สุริยา (ขณะนั้น ยังเป็นมือกลอง ต่อมาภายหลัง เปลี่ยนชื่อ เป็น ศรี สุริยา เป็นหนึ่ง ใน ชุด ของทีมสี ไม่ใช่ สี่สี นะครับ, สี่สี เกิดขึ้น ทีหลัง หลายปี).....

คืนนั้น เป็นคืน วิเศษ สุดๆ คนแถวถิ่นนั้น เพิ่งจะเคยดู วงดนตรี เป็นครั้งแรก ไม่เคย มีใครนำวงดนตรี มาแสดงให้ดู ให้ชม กันมาก่อนเลยจริงๆ นักร้อง ชาย-หญิง
สอง วง มาร่วมด้วยช่วยกัน จากวง จุฬารัตน์ - ฟ้าบางกอก หลังจากที่ครูฉลอง กล่าวคำขมาเสร็จ ดนตรีเริ่มทำการแสดง "ชะโอด ยงพฤกษา" (ตอนนั้นยังไม่เป็น"เกียรติ ไกรสรณ์") ออกร้อง เป็นคนแรก ตามด้วย "วาสนา ทิพยโอสถ" ร้องเพลง"หนาวใจวัยรุ่น" (เพลงหนาวใจ) วีระ กลิ่นเกตุแก้ว, ร้องเพลงชาวนาผาสุข, และ "จรกา ผิวผ่อง" (เพื่อนเล่นผม) ตอนนั้น "จรกา ผิวผ่อง"เล่นหนัง เรื่อง "ตุ๊กตาผี" คนก็ฮือฮา เพราะหนังกำลังดัง ออกมาร้องเพลง "ลูกเลี้ยง" กับ "ดาวลูกไก่" ตอน 1 ตอน 2 ครูฉลอง ก็จะร้อง แทรก เป็นกลอนด้นเยี่ยมครับ ร้องด้นเก่งชะมัด คนดูนั่งมองกันตาค้าง เลยแหล่ะ..
ลืมบอกครับ โฆษกผู้ประกาศเพลง พี่สีหมึก ร่วมกับ พี่ชัย อนุชิต, ศรีไพร ใจพระ, สลับกัน นักร้องที่ร้องในคืนนั้น เท่าที่ผมจำได้นะครับ นักร้องสำคัญๆ อย่าง ประจวบ จำปาทอง ร้องเพลง " ผมเป็นชายโสด," วันทนา สังข์กังวาลย์, สุชาติ เทียนทอง ร้องเพลง "ครวญหาแม่" กับ เพลง
"ปลาบู่ทอง" ตอน 1 ตอน 2
สัญญา จุฬาพร ร้องเพลง " รักให้โง่", กนก เกตุกาญจน์, ชัย อนุชิต ร้องเพลง" รักพี่ดีกว่า," พล พรภักดี, ชาย เมืองสิงห์ ร้องเพลง "มอดกัดไม้" เพลง "ชมสวน" และร้องคู่ กับ ชัย อนุชิต เพลง "เขาพระวิหารที่รัก" ยังมีอีกครับ จำได้แค่เนี้ยะ อ้อ..ยังมี เพลงสำคัญด้วยน่ะ เพลง "ยายฉิมเก็บเห็ด"
รุ่ง ทิพย์ เมืองสุวรรณ ร้อง ถ้าบังเอิญ จะมีคำถาม ว่า แล้ว "สังข์ทอง สีใส" ล่ะ และ ก็ "โฆษิต นพคุณ" ล่ะ ก็อยากจะตอบว่า ตอนนั้น ยังไม่มี สังข์ทอง สีใส
น่าจะยังไม่เข้าวงการ เพราะ
ชาย เมืองสิงห์ เอง ขณะนั้น ก็เพิ่ง จะเข้ามาอยู่ จุฬารัตน์ ได้ยังไม่นาน ส่วน โฆษิต นพคุณ ตอนนั้น ยังเป็น มิตร ไมตรี และกำลังรับราชการทหารที่
ค่ายธนะรัตน์ จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์...
      ครู ฉลอง บวชอยู่หนึ่งพรรษาจำพรรษา ที่ วัดฝาง ต.ไผ่จำศิล อ.วิเศษฯ แต่ไปเรียนนักธรรม ที่วัดไร่ ต. ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษฯ หน้าน้ำผมเป็นลูกศิษย์ พายเรือออกบิณฑบาตร หลังฉันเพล ก็จะพายเรือมารับ ไปเรียนนักธรรมต่อ ทำอยู่อย่างนี้ ตลอดพรรษา ครูฉลอง เป็นพระ ก็ยังแต่งเพลงเล้ย ผมก็ไม่รู้ว่าอาบัตหรือเปล่า เห็นปลงอาบัตทุกวัน ก่อน ทำวัตรเช้า-เย็น ท่านยังบอกผมเลย จะเขียนเพลงให้ ชาย เพลง ให้หลาด เพลง และตัวเองเพลง มีครูผู้หญิงอยู่คน เป็นครูสอนอยู่ที่ผมเรียนนั่นแหละ สวยด้วย
ชื่อครู "มณี เพ็ชรนิล" ครูฉลอง ก็เลย แต่งเพลง "ดวงมณีที่รัก" ให้พี่หลาด อีกเพลง "กลับนาเถิดน้อง" ให้ ชาย เมืองสิงห์" มาอัดเสียงทีหลัง ดังเปรี้ยง แต่ทำไมทางห้างผู้จัดการขาย จึงมาพิมพ์ เป็น ชื่อเพลง "กลับมาเถิดน้อง" เพี้ยนหมด การแต่งเพลงเขาใช้อักษรเล่นคำสัมผัสกัน "กลับนา น.นา เถิดน้อง น.น้อง
บวช วัดขุมทอง, จำพรรษา วัดฝาง, เรียนนักธรรม วัดไร่ ต่อจาก วันที่ครูฉลองบวชไม่กี่วัน "ชาย เมืองสิงห์" บวชที่ วัดโพธิ์ข้าวผอก ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ไม่มีใครไปเลย มีหลวงพี่หลอง ทั้งๆห่มผ้าเหลือง ไปองค์เดียวจริง ๆ..
     วงดนตรี คณะ ฟ้าบางกอก ผลิต นักดนตรี นักร้อง โฆษก นักจัดรายการวิทยุ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จากยุคหนึ่ง สู่ อีกยุคหนึ่ง บ้างเป็น นักดนตรี เป็นนักร้อง ก็ได้ผันตัวเองมาสู่ อาณาจักร ของการเป็นตลก ก่อนที่จะไปเป็นตลกตามคาร์เฟ่ อย่าง ท่าน " วิภาค สุนทรจามร"(คู่ชีวิต ของ แม่ วงค์จันทร์ ไพโรจน์)
      ท่าน ผอ.เดชะ ธนาวงษ์ (อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรจน์บางแสน) ทั้งสองท่านนี้เป็น นักดนตรียุคแรก ของฟ้าบางกอก,
พี่ สีหมึก รวงทอง เป็นมือเป่าแซ๊กอัลโต้ เป็นผู้ต้นคิด เริ่มก่อตั้งตลกทีมสี เริ่มแรก มีทั้งหมด สิบกว่าสี สีหมึก รวงทอง หัวหน้าทีม, สีขาว ( มือเป่าทรัมเปท ), สีเขียว, สีนิล นิลทอง, ศรีไพร ใจพระ, สีเผือก, ศรี สุริยา (จาก แสง สุริยา มาเป็น สี สุริยา ตอนแรก ใช้ อักษร สี สุริยา มาเปลี่ยน ใช้ อักษร ศรี สุริยา ทีหลัง,)
มีอีกหลายสี ครับ จำไม่หมด ...

สำหรับ "เทพ เทียนชัย" เป็น นักแสดงกายกรรมมาก่อน กระโดดบ่วงมีด, กระโดดบ่วงไฟ, หันมาจับงานเล่นตลกครั้งแรก ไม่ได้อยู่ ฟ้าบางกอก ยังไม่จัดเข้าเป็นทีมสี เริ่มจากจับคู่เล่นตลก มี ต่อ เต่าทอง, จิ๋ว จุกจิก, มิสเตอร์ป๋อง, และ เปลี่ยนแปลง ตัวเองไปเรื่อยๆ ไปทุกวงที่มาจ้าง จนหลายปี ต่อมา จึงมาจัดอยู่ในทีม สี่สี นั่นหมายถึง ชุดทีมสีแรกๆ ได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินในถิ่นอื่นกันเกือบหมด
   ศรีไพร ใจพระ ไปอยู่วง จุฬารัตน์, สีนิล นิลทอง ไปวง เพลิน พรหมแดน, ก็เหลือ เพียง สีหมึก, สีเผือก, สี สุริยา, ที่ยังอยู่ กับ "ฟ้าบางกอก"
แต่ถึงกระนั้น วงดนตรี ฟ้าบางกอก ก็รับงานแสดง มีเป็น ระยะ ระยะ ส่วนใหญ่ นักดนตรี นักร้อง โฆษก จะมีงานประจำทำกันเกือบจะทุกคน
พี่ สีหมึก เป็นลูกจ้างประจำ กรมช่างอากาศ (ในขณะนั้น) พี่สีเผือก ทำงาน ที่กรมศิลปกร สี สุริยา เตะฝุ่น ผมงี้ประจำ(เป็นตัวแทน) ไม่มีงาน เอาเสื้อนอก เดินจาก วัดเอี่ยม บางขุนพรหม ไป โรงรับจำนำแถวเทเวศน์ จำนำเสื้อนอก 5 บาท กินข้าววัดเอี่ยม แม่วัดจัดให้ พอมีงาน วิ่ง ๆ ๆ ไปไถ่ออกมา ไม่มีงาน จำนำต่อ กะ พี่แมว ขโมงโฉงเฉง ประจำ ( พี่ แมว ก้อ "สีฟ้า โพธิสัตย์" อดีตภรรยา คนแรก ของแก) อ้อ..ลืมบอก "สี สุริยา" ชื่อจริง "สมพงษ์ โพธิสัตย์" ผมเรียกง่ายๆ พี่เปี๊ยก ผมจำได้แม่น อยู่คนเดียว เข้าโรงจำนำ บีบนวด มวนยา มวนโตๆ ทำให้หมด ไม่รู้ทำได้ไง ยังเคยมีรางวัลให้ผมเล้ย ครูฉลองให้ขลุ่ย สี สุริยา ให้บ้อง...ฮ้าเอิ๊ก
      สถานีวิทยุ สทร. กับ ปชส.7 เล่นบ่อยที่สุด สำหรับวง ฟ้าบางกอก นักร้องขวัญใจ สทร./ ปวส.7 ตอนนั้น ก็ ชาย เมืองสิงห์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ,
โดย เฉพาะ ไวพจน์ ดังตั้งแต่ ยังไม่อัดแผ่นเสียง วง"รวมดาวกระจาย" ไปแสดงที่ คนอยากจะฟังแต่ ไวพจน์ แหล่.. มีอีกหลายคน นะ นักร้องขวัญใจ
"สิงห์ สามยอด" (วิโรจน์ เพชรเมืองกาญจน์) เกริก โกรกกราก, ครู ชลอ ไตรตรองสรณ์, แก้ว เบญจกาย, ยอดรัก แดนสุพรรณ, ไม่รู้ว่า รู้จัก หรือจำกันได้ บ้างหรือเปล่า
งานประจำปี วัดโพธิ์ ท่าเตียน ของทุกปี มี วงดนตรี แสดงกันคืนละคณะ เก็บเงินแข่งขันกัน "ฟ้าบางกอก" ชนะเลิศ ทุกปี คนดูเขาชอบ การแสดงโชว์ของนักดนตรี ซึ่งมีการแสดงกายกรรมต่อตัว และโฆษกตลกทีมสี, เวลา วง "ฟ้าบางกอก" ไม่มีงาน ครูฉลอง ก็ไป วง "จุฬารัตน์ " ไม่เห็นครู " มงคล อมาตยกุล" จะบ่นหรือว่าอะไร หากครูฉลองไป ครู มงคล ก็ไม่เหนื่อย แต่ถ้าเป็นคนอื่นล่ะก้อ งึมงัม งึมงัม ๆ ต้องมีคนคอยนวดให้ ถึงจะหาย...คนนวดที่รู้ใจ เจ้าประจำ "เฟื่อง เมืองนนท์"

เปิดม่านฟ้า ในกรุงเทพพระมหานคร สมัยนั้น เขาเรียก นครหลวงกรุงเทพ-ธนบุรี ครูฉลอง วุฒิวัย เดินทางกลับ มาทำธุระที่บ้านเกิด อำเภอวิเศษชัยชาญ โดยพาภรรยา และลูกสาวเพิ่งแรกเกิด มาด้วย เป็น ช่วง เดือน กรกฎาคม ปี พ.ศ.2508 ก่อนวันเข้าพรรษาเพียงไม่กี่วัน
วันนั้นผมกำลังนั่งดูละคร (ละครชาตรี ที่เขานิยมหามาเล่นแก้บนตามพื้นบ้าน) ผมเดินเข้าไปหา หวัดดี
               - ครูฉลอง ถาม เรียนจบหรือยัง
               - ผมตอบ จบแล้ว
               - ครูฉลอง ไปอยู่ด้วยกันไหม
               - ผมตอบ ไป ( โดยไม่ลังเล เพราะอยากเป็นนักร้องอยู่แล้ว )
               - ครูฉลอง ให้กลับไปบอกพ่อ แม่ เตรียมเสื้อผ้ามา
     วันนั้น ผมเดินทาง เข้ากรุงเทพฯ พร้อมครูฉลอง และครอบครัว มี พี่ "โทน ลูกทุ่ง" เป็นคนขับรถ (รถแท๊กซี่) ถึง กรุงเทพฯ แวะส่ง พี่จุก (ภรรยา) และลูกสาวแรกเกิด
( ชื่อแป๋ว.. ปรีดา วุฒิวัย ) ที่บ้าน ริมคลองประปาฝั่งขวา บางซื่อ แล้วเดินทาง ต่อไป ที่ จังหวัดราชบุรี ครูฉลอง รับงานทำขวัญนาคไว้ที่นั่น
ทำขวัญนาคเสร็จ เดินทางกลับกรุงเทพฯ ไปแสดงดนตรีต่อ ที่ พระโขนง โดยมีชาวคณะ "ฟ้าบางกอก" กำลังแสดง อยู่ก่อนแล้ว
ครั้ง แรกที่ได้เห็น "พรชัย วัชรีวงษ์" นักร้องชาย กำลังร้องเพลง "แม่รำแขนไผ่" เป็นเพลงของ "มีศักดิ์ นาครัตน์" ที่กำลังโด่งดังอยู่ ในขณะนั้น เป็นเพลงสนุก ๆ
ร้องไป ทำแขนค๊อกไป ตามลีลาท่าทางประกอบของเพลง คนดูก็หัวเราะชอบใจ ....

จนกระทั่ง ถึงคิวการแสดงตลก นำทีม โดย สีหมึก, สีเผือก, แสง สุริยา (ยังไม่เป็น สี) ตามแบบฉบับ ความฮา และถนัดในลีลาการขายหัวเราะ ของทีมงาน "ฟ้าบางกอก" เป็นความสามารถ เฉพาะตัว ของแต่ละคน ท่าทางก็แตกต่างกันออกไป สีหมึก เป็นตัวปู แสง สุริยา, สีเผือก เป็นตัวดิ้น
มุกตลก มุกตีหัวด้วยถาด มุกตลกรำฉุนฉาย (ต้นฉบับ) ก็มาจาก สีเผือก เพราะ แกอยู่ กรมศิลปกรณ์ " ฉุยฉาย..เอย...อีลุ่ย ฉุยแฉะ ยกมือไว้แพะ" สีหมึก พากษ์ สีเผือกรำ
( รำสวย แต่ ฮาตึม)...โอ้ย บรรยาย ยากจัง....
    ทิ้งช่วงสักพัก ขณะที่คนดูกำลังสนุกและหัวเราะอยู่นั้น "แสง สุริยา" เดินออกมา ทำหน้าเศร้า ๆ มายืนถือไมค์หน้าเวที ประกาศหน้าเศร้าทำท่าทางเหมือนจะร้องไห้ "ขอแสดงความเสียใจกับพ่อ แม่พี่น้อง และแฟน ๆ ภาพยนตร์ไทย ขณะนี้ "ไชยา สุริยันต์" ได้เสียชีวิต ลงแล้ว" พูดจบ "แสง สุริยา" ก็เดิน เข้าหลังเวที คนดูงี้ "ตลึง" นั่งกันเงียบกริบ คิดดูนะครับ ตอนนั้น "ไชยา สุริยันต์" พระเอกภาพยนตร์ ตุ๊กตาทอง พระราชทาน กำลังดังจัด สีหมึก, สีเผือก, ก็ยืนงง ตลกไม่ออก ("แสง สุริยา" เล่นมุก ไม่ได้นัดไว้) ทิ้งระยะสักประเดี๋ยว "แสง สุริยา" เดินออกมาอีกครั้ง จับไมค์ คนดูก็คอยฟังว่าจะพูดอะไร
"ไชยา สุริยันต์" เสียชีวิต ในภาพยนตร์ "เรื่องธนูทอง" ฮ้า ๆ ๆ...เอิ๊ก..
คืนนั้น ที่งานพระโขนง ครูฉลอง ประกาศ แนะนำฝากนักร้องน้องใหม่ หนึ่งคน
     " วันนี้ ผมเดินทาง ไปที่ วิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง ได้ นำเด็กหนุ่ม จาก ทุ่งอ่างทอง มาสดๆร้อนๆ ยังไม่เคยฟังเสียงเลย ว่าร้องเพลงเป็นอย่างไรดีหรือไม่ อยากให้ท่านฟังพร้อมๆ กันกับผม ชื่อ ก็ยังไม่รู้จัก ชื่อนักร้องใช้ในการร้องเพลง ก็ยังไม่ได้ตั้งให้ เชิญท่านพบกับ นักร้อง จาก หนุ่มแห่งทุ่งอ่างทอง"
ทีแรกผมก็ไม่รู้ว่า เรียกใคร จนกระทั่ง พี่ "โทน ลูกทุ่ง" สะกิดบอก พี่หลองเรียกนาย ผมยืนงงเป็นไก่ตาแตก ขาสั่นพับๆ เล่นเอาเหงือแตกเลย จริงๆผมชอบร้องเพลง แต่ในชีวิตไม่เคยขึ้นเวทีร้องเพลงเลย เวทีประกวดก็ไม่เคย พอเดินขึ้นเวที เสียงปรบมือดังขึ้น แต่ใจยังสั่นอยู่ไม่ปกติเล้ย.. แต่งตัวก็ คิดดูเหอะ บ้านนอกเข้ากรุง ผมกระเซิง รองเท้าหนังยาง เสื้อ-กางเกงเก่าๆ พี่สีหมึก พูดหน้าเวทีกับผมอยู่นาน (ความจริงพี่สีหมึก ก็รู้จักกันมาก่อน แกไปติดสาว อยู่แถวๆ บ้านผมนั่นแหล่ะตอนนั้น) แกถามผมว่า ชื่ออะไร ผมบอก ผมชื่อ ฉลอง แกทำถ้างง แกเลยเรียกผม หลองเล็ก บนเวทีนั่นแหล่ะ ( ตั้งแต่นั้นมา ทุกคนก็รู้ว่าผมเป็นญาติ กับครูฉลอง ก็เลยเรียกผม "ไอ้หลองเล็ก" มาตลอด ) พอพี่สีหมึก เห็นว่าผมพอจะหายประหม่า ก็ถามผมว่า วันนี้ จะร้องเพลงอะไร ? ผมบอกว่า ผมจะร้องเพลง "น้อง" ของ " ไพรวัลย์ ลูกเพชร " แล้วก็ต่อ อินโทรเพลงกันหน้าเวที ผมร้องเพลง"น้อง" จบ นี่ไม่ได้โม้นะ เสียงปรบมือเพียบ ดังสนั่น พี่โอด (ชะโอด ยงพฤกษา) นักร้องรุ่นพี่ มาเปลี่ยนทีหลัง "เกียรติ ไกรสรณ์.. โผล่.หน้ามาข้างเวที "เฮ้ย..เสียงปรบมือ ดังกว่ากูอีกว่ะ" พี่สีหมึก เลยให้ร้องอีกเพลง ผมร้องเพลง "แสบหัวใจ" ของ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ออกทำนอง ลิเก เช่นเคยครับร้องจบ เสียงปรบมือ สนั่น ครู ฉลอง เลย ประกาศ ตั้งชื่อ ให้ผมหน้าเวที "รุ่งเรือง เมืองวิเศษ"เป็นชื่อ ในการร้องเพลง หน้าเวที วงดนตรี " ฟ้าบางกอก" ที่หน้าเวที่พระโขนง นั่นเอง .....
      ขณะที่ผมร้องเพลงจบ มีท่านสุภาพสตรี นำเงินรางวัลมาให้ 20 บาท ดีใจสุดๆ นั่นคือพลังใจ ของการก้าวสู่ประตู เริ่มแรกของการเป็นนักร้อง
หลังจาก นั้น ก็ได้เป็นนักร้องเต็มตัว ผมเป็นเด็ก และน้องใหม่ ทุกคนให้ความรัก ความเมตตา ใครๆก็เรียกใช้ เพราะเป็นเด็กเรียกใช้ง่าย "แสง สุริยา" ผมนี่ คนโปรดเลยล่ะ ให้นวดประจำ นวดเสร็จ ให้บาทหนึ่ง เลือกเอา บาทซ้ายบาทขวา ในช่วงจังหวะนั้น มีนักร้องรุ่นพี่ ร่วมรุ่น อยู่หลายคนครับ-.
     เกียรติ ไกรสรณ์ (ชะโอด ยงพฤกษา), วาสนา ทิพยโอสถ, วีระ กลิ่นเกตุแก้ว, ระวี วงศ์สำราญ, รุ่งทิพย์ เมืองสุวรรณ, ไวย วรนาถ, พรชัย วัชรีวงษ์, สีฟ้า โพธิสัตย์, จรกา ผิวผ่อง, โทน ลูกทุ่ง, สุนันท์ กรองแก้ว, ดาวฤกษ์ เรวดี, กำพล เพชรกำแพง, รุ่งฟ้า ดาราพราว, แก่นจันทร์ เมืองพิจิตร, สมยอม คล้ายสมยศ, โสภา เพชรนาเกลือ, แก้ว ไกรลาศ, คม ศุภมิตร (คม ราชสีมา)
และ นักร้องกิติมศักดิ์ อย่าง ครูคำรณ สัมปุณณานนท์, ครูนคร ถนอมทัพย์ (กุง กาดิน), เพชร พนมรุ้ง, รุ่งเพชร แหลมสิงห์, ก็มาร่วมด้วยบ่อยๆ...
ในสมัย นั้น เป็นสมัย นิยมตั้งมิตรเพลง แฟนเพลง เป็นคณะมีมากมาย หลายคณะ วงดนตรี "ฟ้าบางกอก" ก็มีแฟนเพลง ตามเชียร์อยู่มิใช่น้อยเชียวแหล่ะ ส่วนมากก็เป็นแฟนเพลง แถบแถวในกรุงเทพฯ - ฝั่งธน ตั้งเป็นกลุ่มเป็นคณะคอยตามดูตามเชียร์ ก็ยังพอที่จะจำรายชื่อ คณะมิตรเพลง แฟนเพลงได้อยู่ แต่เก็บไว้ก่อน ถึงแม้ว่าเราจะเป็นนักร้องใหม่ ก็มีกับเขาเหมือนกัน แต่แปลก.. ไม่เคยได้รับพวงมาลัยกับเขาเล้ย นานๆ ถึงจะมีกับเขาสักกะพวงก็ยากที่จะหา ไอ้เราก็แปลก มีพักพวกทีพอจะรู้จักกัน บอกว่า เดี๋ยวจะเกณฑ์ ซื้อพวงมาลัยมาคล้องคอให้ ก็ตอบปฏิเสธไปหมด จะบ้าหรือไง ซื้อพวงมาลัยให้พวกกันเอง แล้วมันภูมิใจตรงไหนกัน วันหนึ่งที่สถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือ (สทร.) ท่าช้าง เป็นกลางวันของวันอาทิตย์ "ฟ้าบางกอก" ไปแสดง ผมออกร้อง เพลง สุขี-สุขี เอาใจคณะมิตรเพลง เพราะเนื้อหาของเพลง เป็นไปในทำนองนั้น พอร้องจบ โอ้โฮ..มากันเป็นแถว พวงมาลัย ดอกไม้ ดอกกุหลาบ "ครูคำรณบอก ไอ้หลองเล็กได้พวงมาลัยเยอะกว่ากูอีก"
     แต่ครูคำรณ เขาไม่ได้อยู่ได้เห็นที่หน้าเวที ผู้ที่นำเอาพวงมาลัย ดอกไม้มาให้นั้นน่ะ "กระเทยทั้ง น้าน ๆ" พอดนตรีเลิก ลงข้างล่างเวที บรรดาแฟนๆ ท่านๆ เธอๆ ก็มายืนห้อมล้อมกันอยู่อีก
ครูคำรณ ก็เลยถึงบางอ้อ.. ไอ้หลองเล็กมันหนุ่ม ไอ้เรามัน แก่...
     เวลายามเย็น ที่ผมมักจะออกมายืนเล่น หรือเดินเล่น ที่พื้นลานหน้าบ้าน (ปัจจุบัน) มักจะมีลมพัดผ่านเย็นสบาย แล้วก็ยิ้มอยู่คนเดียวเงียบๆ อารมณ์ดี มีความสุข ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งที่ สมัยเคยอยู่กรุงเทพฯ ณ.ที่นี้ จะมีงานกีฬาเล่นว่าว ช่วงปลายเดือน มีนาคม ของทุกๆ ปี ในครั้งกระโน้น ที่ท้องสนามหลวง เขาจะจัดให้มีการแข่งขัน กีฬาว่าว ระหว่าง "ว่าวจุฬา" กับ "ว่าวปักเป้า" แข่งขันเตะตะกร้อรอดบ่วง ชิงรางวัลกันมากมาย มีการพนันขันต่อ มีได้ และมีเสีย แต่ก็สนุกดี พ่อ-แม่ ก็พลอยพาลูกเด็กเล็กแดง ไปเที่ยวกัน ไปพักผ่อนกัน นั่งดูว่าว ที่เขานำมาแสดงโชว์สีสวยสด หลายหลากมากชนิด บ้างก็ซื้อไปให้ลูก-หลานได้วิ่งเล่นกันที่ท้องสนามหลวง เป็นที่สนุกสนาน ของเหล่าบรรดาเด็กๆ ทั้งหลาย "ว่าวดุ๋ยดุ่ย" จะส่งเสียง อันดังด้วยความไพเราะยิ่ง "ดุ๋ยดุ่ย ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ"...เสียงดังมาจากบนท้องฟ้ายามเย็นแดดร่มลมตก ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม พริ้วเพริดพาเพลิน จำเริญเข้าไปในหัวใจ สบายอุราเป็นเสียยิ่งนัก.....
     พอตกช่วงเย็น โดยรอบบริเวณท้องสนามหลวง ด้านทิศตะวันตก ( ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ) ยาวตลอดแนว ไปจรด มุมท้องสนามหลวง ด้านทิศใต้ (ใกล้วัดพระแก้ว) ก็แออัดไปด้วยร้านค้าอาหาร จะมีร้านค้า ขายไก่ย่าง ขายสุรา-อาหาร อาหารตามสั่ง มีสาวสวยคอยมานั่งเสริฟ รอคอยบริการลูกค้าอยู่ จัดเป็นบริเวณร้านค้าอาหาร มีการขับกล่อมด้วยดนตรี และเสียงเพลง แน่นอนครับ ไม่พ้นเพลงลูกทุ่งไปได้ แล้วแต่ว่าใครร้านไหน จะว่าจ้าง คณะอะไร ก็จัดหาเอาคณะที่ราคาพอประมาณพอสู้ราคากันได้ ไม่ต้องถึงกับต้องใช้วงระดับมาตรฐาน หรือยิ่งใหญ่อะไร มีนักร้องเสียงดีๆ หางเครื่อง สวยบ้าง ไม่สวยบ้าง ไม่เป็นไร เดี๋ยวมืด พอแขกเมาได้ที่ ก็สวยไปเองแหล่ะ.....

วงดนตรี "ฟ้าบางกอก" ก็เป็นหนึ่ง ในจำนวนหลายๆ วง ที่มาแสดงกันประจำทุกวัน สลับกับการร้องเพลงของนักร้อง ก็มี "โชว์ตลก" เพื่อเรียกเสียงฮา จากแขกที่มานั่งทานอาหารในร้าน และเพื่อเป็นการดึงดูด ดึงความสนใจจากผู้ที่มาหาความสุข ในการมาเดินเที่ยวงาน ให้เข้ามาอุดหนุน นั่งทานอาหาร ร้านอาหารมีหลายสิบร้าน ดนตรีก็มีหลายสิบคณะ นักดนตรี ที่เคยเล่นประจำ อยู่ "ฟ้าบางกอก" บางคน ก็แยกตัว ไปตั้งคณะเฉพาะกิจ เพื่อรับงานแสดง อีกร้านหนึ่ง อย่าง พี่ "ชาญชัย นิยมแสง" มือเป่าทรัมเปท ไปทำเป็นวงดนตรี " เอ็นเอส คอมโบ้ " อีกวง แสดงที่ร้านใกล้ๆกัน นั่นแหล่ะ ทางวงดนตรี "ฟ้าบางกอก" ตลกตัวยืน สีหมึก รวงทอง, สีเผือก, สี สุริยา, คนดูเขาก็ชอบ ฮาตึม...
    แต่ละวัน พอถึงเวลา คนก็เข้ามาจองโต๊ะนั่ง ทานอาหาร เพื่อจะมารอฟังเพลงจากนักร้อง และดูตลก
    ทาง "เอ็นเอส คอมโบ้" พี่ "ชาญชัย นิยมแสง" ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เอา " เด่น ดอกประดู่ " ไม่รู้จับคู่กับใคร ตอนนั้นจำไม่ได้ ยังไม่มี เด๋อ, เทพ, หรือ ดู๋,ดี๋
อีกเวทีหนึ่ง ก็มี เทพ เทียนชัย, ต่อ เต่าทอง, จิ๋ว จุกจิก, และอีกเวที มี เทพกร การะเกตุ, มิสเตอร์ป๋อง, ร้านอื่นๆ ก็มี บางคน วิ่งรอก มาร้านนี้ กระโดด ไปร้านโน้น วิ่งให้วุ่นกันอยู่ แถวนั้นแหล่ะ "เด่น ดอกประดู่" ขึ้นแจมได้ทุกเวที เป็นตลกที่หน้าตาดี ขาวหล่อลากดิน หากินอยู่แถวนั้นแหล่ะ ได้ตัง บ้างเปล่าก็ไม่รู้..
นี่แหล่ะครับ ท่านที่ติดตามอ่าน บทความข้อเขียนนี้อยู่ พอจะนึกออกไหมเล่าครับ ว่าภายหลัง ที่มีตลก ที่เขาเรียกกันว่า"ตลกคาเฟ่" นั่นน่ะ ก็จุดประกาย มาจาก
ตลก ร้านอาหาร ที่มาจากงานกีฬาเล่นว่าว ณ.ท้องสนามหลวง นี่แหล่ะครับ ยัง.. ยัง มีอีก งานวังสราญรมย์, งานกาชาดสวนอัมพร, งานแสดงสินค้าที่หัวหมาก ฯ

จากนั้น ต่อมา ศรี สุริยา, (เปลี่ยน จาก สี สุริยา มาเป็น ศรี สุริยา) ด้วยที่เป็นตลกเด่นมากในช่วงเวลานั้น ทางบริษัท สหพัฒนพิบูลย์ กำลัง ทำวงดนตรี เดินสายไปทั่ว เพื่อโฆษณา สินค้าในเครือ สหพัฒนพิบูลย์ ก็ได้ให้ ศรี สุริยา จัดหานักร้อง ชาย-หญิง โฆษก เพิ่มเติม ก็ได้โฆษกตลก อย่าง เทพ เทียนชัย, ต่อ เต่าทอง, จิ๋ว จุกจิก, ไปร่วมงาน ยกเว้น สีเผือก เพราะติดราชการ นักร้อง ก็มีไปกันเยอะ ผมไม่ได้ไป (เขาไม่เอา) เป็นช่วงเวลา ที่ครูฉลอง ต้องจัดหา โฆษก เข้ามาเสริม นักร้องนั้นหาไม่ยาก มีงานก็ ไปเรียก ครูคำรณ สัมปุณณานนท์, เกียรติ ไกรสรณ์, รุ่งเพชร แหลมสิงห์, ดาวฤกษ์ เรวดี, มา แค่นี้ก็เหลือกิน แต่โฆษก ตลกนี่ซิ สำคัญ เพราะ ฟ้าบางกอก จุดขาย คือตลก สีหมึก, สีเผือก ก็เริ่ม จะมามั่ง ไม่มามั่ง จึงให้พี่เล็ก (สังวาลย์ ทองภิรมย์) ตามปกติ พี่เล็ก จะมาคอยดูแลหลานสาวที่เป็นนักร้อง อยู่สองคน คือ "สุนันท์ กรองแก้ว" กับ อีกคน จำชื่อไม่ได้ พี่เล็กเป็นหมอทำขวัญด้วย บ้านอยู๋ แถว ดาวคะนอง และอีกคน คือ เฮียฮวด "วิชิต ปิยะกุลวัฒน์" ก็จะมาด้วยกัน (สงสัยติดนักร้องสาวๆ) ครูฉลอง ก็เลยให้พี่เล็ก หัดเล่น โฆษกตลก ด้วยเพราะเหตุ ที่พี่เล็ก ติดตามคณะมาทุกงาน จึงจำมุกตลก ที่ ศรี สุริยา เคยเล่นไว้ พี่เล็กก็งัดเอามุกนั้นๆมาใช้ เออแน่ะ ได้ผลแฮะ..ถึงแม้ จะไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่ง ของ ศรี สุริยา ก็ ยังดีกว่าไม่มีตลกเอาเสียเลย.....

อีกคน พี่ "สมัคร เพ็งประดิษฐ์" คนนี้สำคัญมาก ครูฉลอง ได้ถ้วยรางวัลอะไรมา ขาย หรือไม่ก็ จำนำเกลี้ยง เดิมพี่ สมัคร เป็นคน ตีกลองทิมบา
(กลองทอม) ครูฉลอง ก็ให้หัด เล่นเป็นตลก คู่กับพี่เล็ก แรกๆ ก็ ขำไม่ออก คนนั่งดู เพิ่งจะนึกได้ เรานั่งดูตลก นาน ๆ ก็ฮาเสียที ต่อมาก็ไปได้ "เยียม ลูกยอด" มาจากงาน ที่ "ชาย เมืองสิงห์" ไปจัดงานสวนสนุก ที่ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ "สระโกสินารายณ์" อยู่แถว บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มาอีกคน ตอนนั้น เยี่ยม ลูกยอด ยังเด็ก ครูฉลอง นำมาให้หัดเล่นตลก คู่กับพี่สมัคร และพี่เล็ก (ภายหลังได้มาอยู่ วงจุฬาทิพย์ พี่สมัคร ใช้ชื่อ มิสเตอร์เบนซิน, เยี่ยม ลูกยอด เป็น เยี่ยม หยำฉา ตามที่พี่ชาย ตั้งให้) ตอนที่ ใช้ชื่อ เยี่ยม ลูกยอด ครูฉลอง แต่งเพลง ให้อัดแผ่นเสียง ชื่อเพลง "เด็กดอง"
   ครู ฉลอง วุฒิวัย ได้นักร้องชายเสียงดี มาจาก จังหวัด เพชรบุรี อีกคน คนนี้ ขนของร้องเพลง ตีกลอง ได้หมดร้องเพลงหน้า เวที ใช้ชื่อ " รังษี รุ่งเพชร " ครูฉลอง ก็จับให้หัดเล่นตลกหมด ครูฉลอง แกสังเกตุคน ใครจะมีแววทางไหน ก็จะชี้ทางให้เดิน และจริงดังหวัง "รังษี รุ่งเพชร" ย้ายตาม มิสเตอร์เบนซิน กับ เยี่ยม ลูกยอด มาอยู่ วง จุฬาทิพย์ เปลี่ยนชื่อ "ลูกอ๊อด" และ ก็มาเป็น "ดู๋ ดอกกระโดน" เป็นตลกโด่งดังอยู่ถึงทุกวันนี้.....

ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นใน ทีมงาน สหพัฒนพิบูลย์ หลังจากกลับ จากเดินสายโปรโหมดสินค้า นักร้องโฆษก ออกกันเกือบหมด ศรี สุริยา กลับมาเล่นให้ กับ ฟ้าบางกอก ร่วมกับ สีหมึก, สีเผือก, และ นำ เทพ เทียนชัย, มาด้วย ฟ้าบางกอก เลยมีจุดขายเพิ่ม เทพ เทียนชัย โชว์ กระโดด บ่วงมีด กระโดดบ่วงไฟ ที่กำลังลุกๆ ไม่น่าเชื่อ เทพ เทียนชัย ตัวออก สูงใหญ่ แต่กระโดดได้ คล่องและรวดเร็ว
     สุดท้าย ก็ได้จับมือร่วมกัน ตั้งทีมตลก สี่สี ขึ้นเป็นครั้งแรก โดย มี สีหมึก เป็น หัวหน้าทีมแสดงโชว์ ออกสื่อต่างๆ ทั้งรายการ ที วี ห้องอาหาร รับเชิญงานทั่วไป ในชื่อ คณะ ทีมตลก สี่สี มาเรื่อยๆ  แสดงภาพยนตร์, เล่นตลกตามคาเฟ่, โด่งดังไปทั่วทั้งประเทศ ใน และนอกประเทศ ไปมาหมด ได้รับความนิยมสนใจ จากประชาชนทั่วทุกหัวระแหง รับงานทั้ง ใกล้ และไกล หลายครั้งที่ทางเจ้าภาพ หาวงดนตรี จุฬาทิพย์ และ เชิญตลก สี่สี เป็นดาราตลกรับเชิญ พี่เปี๊ยก (หมายถึง ศรี สุริยา) จะเรียกหาผมประจำ ตลกดัง ๆ เจ้าภาพเขาจะจัดโรงแรม ที่พักให้อย่างดี ที่เรียกหาผมไม่มีอะไรหร๊อก ให้หาอีหนูให้ (ตอนนั้นยังไม่ตัด ไอ้หนูทิ้ง) หรืออีก ก็ให้มวน ยา แท่งใหญ่ (เดาเอาเองก็แล้วกัน ว่ามันคือยาอะไร) หาซื้อขนม สาลี่, ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ชอบนัก ของหวาน ๆ พอเราเอ่ยปากทัก ก็จะเตะเอา มึงเฉย ๆ ไอ้หลองเล็ก เรื่องของผู้ใหญ่ มีหน้าที่ ทำตามคำสั่ง เข้าจั้ย... เราก็ชอบ อยู่รับใช้ คนที่เราคุ้นเคย เป็นตลกดัง แถมเรายังได้สตางค์ใช้อีกด้วย..เป็นของแถม สุดท้าย ก็ต้องตัด ไอ้น้องหนูทิ้งจนได้ น่าเสียดายไหมน่ะ...ด้วยความดัง งานเยอะ ต้องทำงานแข่งกับเวลา ในที่สุด ก็ต้องมาจบชีวิตลง จากอุบัติเหตุ ทางรถยนตร์ ทั้งๆที่หลวงพ่อวัดเอี่ยมวรนุช ได้ทำนายให้ระวังตัว ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เรื่อง ให้ ระวัง "อุบัติเหตุ"
     ครู "ฉลอง วุฒิวัย" ไม่เคยนิ่งอยู่กับที่ ผลิต นักร้อง-นักดนตรี เข้ามาประดับวงการอย่างต่อเนื่อง "ณรงค์ มะกล่ำ" เด็กวัดหนองแขม วันหนึ่ง ครูฉลอง รับงานแสดงดนตรี ที่โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม ได้รับการขอร้อง จากครูเภา ให้ใช้นักดนตรีเด็กนักเรียน ที่ครูเภา ได้สอน และฝึกฝนมา ให้เด็กได้ออกมาใช้ความสามารถหาประสพการณ์ กับการแสดงดนตรีลูกทุ่ง คืนนั้นผู้ปกครองของนักเรียน และประชาชน มาคอยชมลูกหลานกันเยอะมาก ๆ .....

เมื่อถึงเวลาการแสดงเริ่มขึ้น ครูฉลอง วางโน๊ตเพลง ที่จะโชว์วงในคืนนั้น เพลงที่หากินประจำ จนผมจำได้ขึ้นใจ คือเพลง "แขกสาหร่าย" เมื่อเล่นเพลงนี้ทีไร ตอนจะจบเพลง ครูฉลอง ก็จะโชว์ เป่าขลุ่ย ทาง ปาก และ จมูก ปิดท้าย นักดนตรี ที่เป็นนักเรียน ลูกศิษย์จากโรงรียนมัธยมวัดหนองแขม ก็ได้โชว์การเป่าเครื่องดนตรี ใช้ตัวโน๊ต ได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งๆที่ไม่เคยได้ร่วมเล่น หรือฝึกซ้อมกันกับครูฉลอง มาก่อนเลย ด้วยความเป็นครูทางดนตรี ของครูฉลอง หรือด้วยความเป็นเลิศ ในการสั่งสอนเด็ก ฝึกหัดเด็ก ของครูเภา นักดนตรี นักเรียนทุกคน โชว์ความสามารถ เล่นดนตรีได้อย่างประทับใจทุกคน ที่โดดเด่น คือ
"ณรงค์ มะกล่ำ" คืนนั้น ผมร้องเพลงแหล่ ที่กำลังดังมาก ของพี่ "ไวพจน์" เพลง "ห่วงลูก" "ณรงค์ มะกล่ำ" มายืนโชว์เป็นมือเฟริสน์ เป่าแซ๊กอัลโต้ เด่นอยู่หน้าเวที คู่กับผม คนร้องก็ดี คนเป่าดนตรีก็เด่น ฮ้า..เอิ๊ก... ( โม้ทั้งปีนิเรา.. ) ขออนุญาตเพิ่มเติมนิด ก่อนที่จะถึงงาน ผมไปนอนไปกินข้าวอยู่ที่วัดหนองแขม
3-4 คืน ได้รู้จัก สนิทสนมกับครอบครัว ของ"ณรงค์ มะกล่ำ" จนบางครั้ง เผลอ เรียกพี่รงค์ ( ก็น้องสาวสวยออกอย่างนั้น ใครหรือจะอดใจไหว จริงป่ะพี่รงค์.. )
นับจากนั้นมา ผมจะไป-มา ระหว่างหนองแขม กับบางซื่อ บ่อยที่สุด วง "ฟ้าบางกอก" มีงาน ผมก็ต้องไปตามนักดนตรีที่หนองแขม นั่งรถเมล์ สาย 5 ศรีนคร คันสีเขียวๆ จากบางซื่อ ไปลง จักรวรรดิ์ แล้วเดินต่อไปสะพานพุทธ เดินข้ามสะพานพุทธ เหนื่อยก็แวะหยุดกลางสะพาน ดูสายน้ำเจ้าพระยาไหลเอื่อย ๆ เหมือนจะหยั่งใจว่า เออ...ชีวิตของเรา ต่อไปจะไหลไปทางไหน ไหลลงต่ำ ตามสายน้ำเจ้าพระยา หรือจะไหลย้อนทวนกระแสน้ำ ขึ้นไปทางเหนือ
  เดินไปรอรถเมล์ สาย 7 ห้วยขวาง - คลองขวาง ที่ป้ายรถ วงเวียนเล็ก นั่งรถต่อไปลงปลายทาง คลองขวาง ภาษีเจริญ ขึ้นรถสองแถวต่อไปยัง วัดหนองแขม
เจอ ณรงค์ มะกล่ำ บอก ฟ้าบางกอก มีงาน ก็เท่านั้น ( สมัยก่อน เรื่องโทรศัพท์ ไม่ต้องหา ) ทำอยู่อย่างนี้นานหลายเดือน จน ชาย เมืองสิงห์ ตั้งวง จุฬาทิพย์ 
                     ( วงจุฬาทิิพย์ เกิดขึ้น หลัง วง "หลังเขาประยุกต์" ).....

นักดนตรี ชุดแรก ของ จุฬาทิพย์ ก็กลับถิ่นเดิมเมื่อครบวาระ ครูฉลอง ก็ยกทีมงาน นักดนตรีจากหนองแขมไปให้ จุฬาทิพย์ ทั้งชุด
เจ้า เปี๊ยก มือกลอง (แฟน นารี สุจริต), จำลอง ทรัมเปท, ณรงค์ มะกล่ำ มือแซ๊กอัลโต้, นที แซ๊กเทนเน่อร์, สุพจน์ ทรัมโบนล์ แขก หนองแขม, และก็ อีก ๆ ๆ ๆ
ในที่สุด ฟ้าบางกอก ก็ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน นักดนตรีมาเพิ่มใหม่
       ทีนี่ ก็ เป็น ชุด ของ นักร้องนักดนตรี (เป่าเองร้องเอง) เสียงร้อง ก็เหมือน ชาย เมืองสิงห์ ยังกะถอดเอาไว้เลย "ศักดา ฟ้าประทาน"
       ( ณ. ขณะนี้ ขอเรียน ท่านด้วยความเคารพ นะครับว่า ทั้ง "ณรงค์ มะกล่ำ" และ "ศักดา ฟ้าประทาน"
เป็น โรคอัมพฤกษ์ ทำอะไร ไม่ได้แล้ว ณรงค์ มะกล่ำ ขณะ กำลังบรรเลงเป่าแซ๊ก ตัวโปรด ค่อยๆทรุดล้มลง เส้นเลือดในสมองแตก )
ศักดา ฟ้าประทาน นึกจะมาก็มา นึกจะไปก็ไป แต่ทุกคนเข้าใจได้ ไหนจะ วง "ขวัญจิตร ศรีประจันทร์" ไหนจะ รายการ "ลูกทุ่ง สามสมัย ช่อง 7" เงินเอาไว้ก่อนโบราณว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก นักดนตรีก็ขอจอง นักร้องก็ขอแจม เหมาหมด ยกเว้นขนของไม่เอา ถือแซ๊กตัวเดียวพอ ตามประสา คนเก่งซะอย่าง ใครๆก็ต้องการ
      อีกคนหนึ่งครับ คนนี้สำคัญมาก สำหรับกับ วงดนตรี หลายคณะ มาจาก นักดนตรีนักเรียน "โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม" รุ่นน้อง ณรงค์ มะกล่ำ 2-3 ปี
" ร.ต.ต. สุชาติ สายประดิษฐ์ " ทำงานประจำ ที่ กองบังคับการตำรวจจราจรกลาง กองบัญชาการตำรวจนครบาล ไม่ว่า วง"จุฬาทิพย์",
วง"ฟ้าบางกอก", หรือเดินสาย กับนายห้างต่างๆ กลางวันทำงาน กลางคืนเล่นดนตรี ควบคุมงานด้านดนตรี รายการทไวไลท์โชว์ ทางช่อง 3
(ราเชนทร์ เรืองเนตร ควบคุมวง) หรือแม้กระทั่ง รายการ "ลูกทุ่ง "สามสมัย ช่อง 7 สี" ก็ขาดคนนี้ไม่ได้ นักดนตรีขาด สุชาติ วิ่ง นักร้องขาด สุชาติ หา
วันไหน ครู พีระ ตรีบุปผา ไม่มา สุชาติ คุมเอง เป็นตำรวจ แบกกลอง ขนของ ใครเขาไม่ทำ แต่ สุชาติ ทำ รับเหมาหมด ถือคติ ( มึงไม่ทำ กูทำเองก็ได้ )
เออ..เอากับเขาซิ จะไปไหนที่ไหนก็ช่าง แต่ถ้า "ฟ้าบางกอก" มีงาน "ฉันต้องไป ฟ้าบางกอก" ครูฉลอง พันจ่าอากาศเอก, สุชาติ ร้อยตำรวจตรี

มีอยู่ ครั้งหนึ่งนะครับ วันนั้น "ฟ้าบางกอก" มีงาน 3 งาน ครูฉลอง วุฒิวัย คุมไปงาน (จำไม่ได้ว่าที่ไหน),
มี จ่าทหารเรือ เรียกกันว่าจ่ากาลาสี คุมไปอีกงาน  ร.ต.ต.สุชาติ สายประดิษฐ์ ควบคุมไปอีกงาน ชุดนี้ในวันนั้น ไปแสดงที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม แก้ว สาริกา ไปด้วย
หนทางงี้ อื้อฮือ อย่าให้บอกใครเชี่ยว นั่งรถ ไปถึงบางเลน ลงเรือข้ามฟากแม่น้ำแล้วขึ้นรถต่อ แล้วอีกลงเรือนั่งต่ออีกเป็นชั่วโมง โห...จนไปถึงวัดที่มีงาน หมวดสุชาติ
บอกว่า (ขออนุญาตเรียกหมวดนะครับ)

                           - เฮ้ย..แก้ว วันนี้หน้าเวที ใช้ชื่อมึงนะเว้ย เป็นหัวหน้าวง "แก้ว สาริกา" (ขออภัยที่ใช้คำไม่เพราะ ว่ากันตามความจริง)
                           - ฮึย...มึงจะบ้าเรอะ กูเคยเสียที่ไหน
                           - วันนี้ พี่หลองไม่มา กูสั่งแทน มึงน่ะแหล่ะ
                           - ไม่เหมาะมั้ง
                           - เอาน่า...ไม่มีใคร มึงนั่นแหล่ะ เอาหน่อย ไม่มีหัวหน้าเล่นได้ไง
                             นั่งคุยกัน กินข้าวด้วยคุยกัยด้วย อยู่สักพัก
                           - เอ้า...เอาก็เอา มีปัญหา อย่าด่ากูนา
                           - เออน่า...นี่ใคร (เอามือชี้ที่ตัวเอง)
                              พอตั้งเครื่องดนตรีเสร็จ มองดูที่หน้าแสตนด์ นี่เป็นชื่อ " แก้ว สาริกา"
                           - อื้อ... แล้วก็ไม่ยักกะบอกกันมั่ง โห ! .....

ในจำนวน นอกเหนือ จาก นักร้อง นักดนตรี ที่ได้เคยร่วมงานกันมา ผมก็ยังจะต้องกล่าวต่อไปอีกถึง โฆษกผู้ประกาศเพลง อีกท่านหนึ่งที่มีน้ำเสียงทรงไว้ซึ่งคุณภาพแห่งความไพเราะ ของต้นเสียง ฟังแล้ว ต้องชั่งใจคิดว่า โฆษกท่านนี้ไม่ธรรมดา ใช้ชีวิตอยู่กับวงลูกทุ่ง มาช้านานนับทศวรรษ วนเวียนอยู่กับวงการลูกทุ่งมายาวนาน นับคณะไม่ถ้วน ตั้งแต่สมัย ยุคต้นๆ ที่ยังไม่มีใครเรียกขาน ว่าวงดนตรีลูกทุ่ง
"สวัสดิ์ ศรีจำรูญ" กับ นักร้องสาวเสียงดี ที่เป็นคู่ชีวิต เสียง คล้าย "ผ่องศรี วรนุช" นามเธอ "วาสนา ระวังงาน" ร้อง เพลงดีไม่มีที่ติ ฟังเสียง ไม่ดูหน้า ก็ต้องว่า ผ่องศรี แน่ ๆ บันทึกเสียงเพลงไว้ ก็หลายเพลงอยู่ เสียดาย ผมจำไม่ได้ และไม่มีแผ่นจะนำมาอวด อีกคนหนึ่งครับ "รุ่งโรจน์ ณ.แปดริ้ว" ชื่อ สกุล ก็บ่งบอกว่า มาจากแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ก็แน่นอนอยู่แล้วครับ รุ่งโรจน์ เป็น มือระนาดเอก หากินทางตีระนาด ทีโรงละคร ในวัดหลวงพ่อพุทธโสธร ทุกวันประจำ ร้องเพลงเสียงใสปิ้ง บุคลิกลักษณะเดียวกันกับ "สาริกา กิ่งทอง" ครูฉลองไปพบเข้า นำมาเป็นนักร้อง บันทึกเสียงเพลง หลายเพลงเหมือนกัน ที่จำได้ เห็นจะมีอยู่ เพลง "น้ำท่วมกรุงเทพ" "รุ่งโรจน์ ร้อง ครูฉลอง แต่ง"
โฆษกเสียงเสน่ห์ อีกคน เป็นนักจัดรายการรูปหล่อ แฟนเพลงเยอะ สาวแก่ แม่หม้ายติดกันตึม "คุณ สำราญ อารมย์"
      นับจากปี พ.ศ. 2516 สถานีวิทยุ ป.ช.ส.7 ได้ย้ายจากใต้สะพานพุทธ ไปอยู่ในซอย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตฝั่งธน (ก่อนที่จะย้าย มาที่สวนลุมพินี)
ทุกคืน ของคืนวันศุกร์ " ไฉน กลิ่นขาว " โฆษกนักจัดรายการชื่อดังในยุคนั้น มอบให้ ครูฉลอง วุฒิวัย นำวงดนตรี "ฟ้าบางกอก" มาแสดง ทุกคืนวันศุกร์
เป็นประจำ จนครูฉลอง แต่งเพลงประจำรายการ ผมจำเนื้อเพลงตอนต้นได้นิดหน่อย เนื้อเพลงเริ่มต้นว่าอย่างนี้ครับ
     " ป.ช.ส.เจ็ด รายการพิเศษ ทุกคืนวันศุกร์ แฟนๆเพลงครื้นเครงสนุก ทุกคืนวันศุกร์ จัดโดย คุณไฉน" จำได้แค่เนี้ยะ...
ผม จำไม่ได้แน่ ว่าปีไหน จะปี 2522 หรือ ปี 2523 ไม่แน่ใจ วงดนตรี "ฟ้าบางกอก" นำโดย ครูฉลอง วุฒิวัย ส่งวงดนตรีเข้าประกวด ในรายการ ประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง "ลูกทุ่งพัฒนา "
ทางไทย ทีวีสี ช่อง 3 มีวงดนตรีหลายสิบคณะ ส่งเข้าประกวดประชันขันแข่งกัน ครู ฉลอง ส่งเข้าประกวด โดยใช้ชื่อ วงดนตรีลูกทุ่ง คณะ " เด่น ดวงดี " ใช้เวลาในการประกวด อยู่หลายเดือน
ครูฉลอง โชว์ความเหนือชั้น ของฝีมือที่ลือเลื่อง ที่เรียกว่าชั้นครู เหนือทีมคู่แข่ง นำทีมงาน ผ่านเข้าสู่ รอบชิงชนะเลิศ
     และในที่สุด ผลการประกวด "วงดนตรีลูกทุ่ง "คณะ เด่น ดวงดี" ได้รับรางวัลชนะเลิศ คว้าถ้วยและครองแชมป์ " ลูกทุ่งพัฒนา " จากไทย ทีวีสี ช่อง 3 มาครอง
อย่างเต็มความภาคภูมิ สร้างปรากฏการ ในหมู่ วงดนตรีลูกทุ่งด้วยกัน ในช่วงบั้นปลาย ท้าย ๆ ก่อนจะสิ้นสุด ของวงดนตรีลูกทุ่ง คณะ "ฟ้าบางกอก"
"รางวัลถ้วยชนะเลิศ แชมป์ ลูกทุ่งพัฒนา" ผมมีเพียงรูปถ่าย ของจริงผมเองก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน วนเวียนไปบ้านครูก็บ่อยครั้ง มองไม่เห็นมี ถามพี่เฉลียว (พี่สาวครูฉลอง) หรือถามใครก็ไม่มีใครรู้ เป็นที่น่าเสียดาย ทุกวันนี้ คงเหลือไว้แต่เพียง "ความทรงจำ และสิ่งดีๆ เท่านั้น ที่ยังพอมีร่องรอยหลงเหลืออยู่บ้าง"... น่าเสียดายจริง ๆ
     สาย ๆ ของ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ผมได้รับโทรศัพท์ จากญาติผู้หญิง คนหนึ่ง "หมอแก้ว" "พ่อฉลอง" เสียชีวิตแล้ว ผมรับโทรศัพท์ นั่งนิ่งอยู่สักครู่ แต่ก็ทำใจไว้ก่อนแล้ว เพราะรู้อยู่ว่า ไม่วันหนึ่งก็วันใด คงจะได้รับข่าวอย่างนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ก็ไปตัดนิ้วเท้า และน๊อคเบาหวานอยู่บ่อย ๆ เคยไปรับไปส่งแก ตอนที่หมอนัด เดือนละครั้ง (นัดตรวจเบาหวาน) หมอจะนัด ให้ไปพบไปตรวจที่โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ แรกๆก็ สองเดือนครั้ง ต่อมาก็เดือนละครั้ง
     สุดท้าย ครูฉลอง วุฒิวัย ก็สิ้นใจ ไปเมื่อคืน ของวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ชาวบ้านขวาง และบ้านใกล้เรือนเคียง ที่เคยชื่นชอบ และชื่นชมทราบข่าวได้มาร่วมงานกันถ้วนหน้า เหล่าศิลปินลูกทุ่ง ก็ทยอยมาร่วมไว้อาลัย กันอย่างมากมาย อย่าง เช่น โฆสิต นพคุณ ศิษย์รัก, ครูชัยชนะ บุญนะโชติ, ชัยณรงค์ บุญนะโชติ, นายห้างประจวบ จำปาทอง, ชาย เมืองสิงห์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ขวัญจิตต ศรีประจันทร์, ชินกร ไกรลาศ, ภาวนา ชบาไพร, เพชร พนมรุ้ง, แดน บุรีรัมย์, แดนชัย สนธยา, ศรเทพ ศรทอง, ทม นทีทอง, ยาว อยุธยา, ดู๋ ดอกกระโดน, วิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณ, พูพาน เพชรปฐมพร, จอมขวัญ กัลยา, เท่าที่ผมได้เห็น และพอที่จะจำได้นะครับ รวมทั้งลูกศิษย์ ที่เป็นนักดนตรีก็มากันพร้อมหน้า ณรงค์ มะกล่ำ, ศักดา ฟ้าประทาน, ร.ต.ต.สุชาติ สายประดิษฐ์, และอีกมากมายด้วยประการทั้งสิ้นทั้งปวง  เป็นการปิดตำนาน
                                   ของ วงดนตรีลูกทุ่ง คณะ "ฟ้าบางกอก" ที่ยืนยงยาวนานมา มากกว่า 20 ปี ...... 

 

 

 

bottom of page